‘พีซีโลก’ ดิ่งลงสองไตรมาสติด พิษศก.ฉุดดีมานด์ - ธุรกิจชะลอลงทุน
การ์ทเนอร์ อิงค์ เผยยอดขาย “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” หรือ “พีซี” ทั่วโลกช่วงไตรมาสแรกปี 2566 ระบุมียอดรวม 55.2 ล้านเครื่อง ลดลง 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565
สำหรับสาเหตุหลักเป็นผลมาจากอุปทานส่วนเกินในตลาดและความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการขาดแรงจูงใจซื้อ ทำให้ยอดขายพีซีลดลงเมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปีเป็นประวัติการณ์ถึงสองไตรมาสติดต่อกัน
มิคาโกะ คิตากาวะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า แรงกดดันด้านราคาของพีซีทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส จากการที่ผู้ขายเสนอส่วนลดจำนวนมากเพื่อเร่งระบายสินค้าในคลัง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ
ผู้ขายพีซีลดราคาขายเฉลี่ย (ASPs) ลงชั่วคราวกับสินค้าที่อยู่ในตลาด ทว่าราคาขายเฉลี่ยของสินค้าล็อตใหม่ที่จัดส่งเข้าสู่ช่องทางจัดจำหน่ายนั้นยังเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ
“ปกติแล้ว ผู้ขายพีซีจะใช้กลยุทธ์เพื่อรักษาผลกำไรมากกว่าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดด้วยการลดราคา ซึ่งในปีนี้ราคาขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับปานกลาง เนื่องจากผู้ขายผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับพีซีล็อตใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดไปให้ผู้ใช้ปลายทาง”
ข้อมูลระบุว่า ผู้ขายอันดับต้นๆ ในตลาดพีซีทั่วโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 เลอโนโวยังครองตำแหน่งผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาด(เชิงยอดขาย) 23.3% รองลงมาคือ เอชพี 21.8%, เดลล์ 17.3%, แอ๊ปเปิ้ล 8.7%, เอซุส 7.1%, เอเซอร์ 6.4% และอื่นๆ 15.4%
รวมทั้งหมดมียอดขายราว 55.154 ล้านเครื่อง หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ผู้เล่นแทบทุกรายยอดขายลดลงกว่า 30% หรือมากกว่านั้น มีแค่เอชพีรายเดียวที่ยอดลดลงน้อยที่สุดที่ 24%
เลอโนโวทำสถิติยอดขายรายปีลดลงสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ขององค์กรในช่วงสองไตรมาส โดยสหรัฐเป็นตลาดที่มีความท้าทายอย่างยิ่งต่อเลอโนโว แต่ในตลาดญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตเล็กน้อยจากแรงหนุนของการซื้อพีซีในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ดี ถือเป็นเจ็ดไตรมาสติดต่อกันที่ยอดขายพีซีลดลงในระดับเลขสองหลัก โดยเอชพีมียอดขายในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (หรือ EMEA) ลดลงถึง 37% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ในตลาดสหรัฐฯลดลงน้อยกว่า
ส่วนเดลล์มียอดขายลดลงแบบปีต่อปีเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกัน และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยมียอดขายลดลงมากกว่า 40% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากตลาดพีซีในภาคธุรกิจที่อ่อนแอ
คิตากาวะ วิเคราะห์ว่า ไตรมาสนี้ความต้องการพีซีสำหรับธุรกิจโดยรวมชะลอตัวลง โดยเฉพาะในตลาดธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง นั้นถือว่าอ่อนแอเป็นพิเศษ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ไอทียังมีความสำคัญต่อการใช้จ่ายในองค์กรเอสเอ็มบี เนื่องจากเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโต แต่พีซีมักเป็นตลาดแรกที่ต้องเผชิญกับการตัดงบประมาณเนื่องจากองค์กรสามารถยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ได้ โดยสวนทางกับการใช้จ่ายในส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ ซอฟต์แวร์และบริการด้านไอทีที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นในปี 2566
มองในภาพรวมสำหรับตลาดพีซีในเอเชียแปซิฟิกนับว่าลดลงอย่างมาก โดยจีนได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีสินค้าคงคลังสูงและมีความต้องการซื้อน้อยและในตลาดอื่นๆ นอกประเทศจีนตลาดพีซียังอ่อนแอจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น
ขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงอินเดียและเวียดนามมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากการย้ายฐานการผลิตและการดำเนินธุรกิจออกไปนอกจีน
โดยองค์กรต่าง ๆ พยายามเพิ่มความหลากหลายเพื่อลดการพึ่งพาจีนมากเกินไปในฐานะแหล่งผลิตเดียว สำหรับตลาดญี่ปุ่นลดลงในระดับปานกลางที่ 9.8% เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
พบด้วยว่า ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของความไม่สงบทางการเมือง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รอฟื้นตัว ส่งผลให้ตลาดพีซีในภูมิภาค EMEA ลดลงอย่างมากอีกครั้ง ไม่มีผู้ขายหกอันดับแรกรายใดที่รอดพ้นจากการที่ยอดขายลดลง โดยทุกรายมียอดขายหายไปมากกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบรายปี