‘หัวเว่ย’ โชว์วิสัยทัศน์ 5จี ชี้ 'ไทย' ติด 1 ใน 10 อันดับเมืองใช้งาน 5จี แพร่หลาย
เทคโนโลยี 5จี ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วโลกมากว่า 4 ปีแล้ว ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและตามครัวเรือนทุกมุมโลก หัวเว่ย ระบุ ไทยติดหนึ่งในเมือง 10 อันดับแรกของโลกที่เข้าถึงและใช้ 5จี อย่างแพร่หลาย
ซาบรีนา เมิ่ง ประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย กล่าวปาฐกถาภายในงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส เซี่ยงไฮ้ 2023 (MWC Shanghai 2023) โดยระบุว่า หากมองไปถึงอนาคต 5.5จี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดไปอีกขั้น จะเป็นก้าวถัดไปของหัวเว่ยในการพลิกโฉมตลาดให้กับอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่
และยังกล่าวย้ำถึงบทบาทของ หัวเว่ยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้กับหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม และเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาความสามารถและกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้มีความบูรณาการมากขึ้น
“เทคโนโลยี 5.5จี ไม่เพียงเชื่อมต่อผู้คนได้ดียิ่งขึ้น แต่จะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมอีกมากมาย ทั้งยังมาพร้อมกับระบบสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีไอโอที, ระบบ sensing และกระบวนการผลิตที่ทันสมัยยิ่งขึ้น”
เปิดประตูสู่ยุคใหม่ ‘การเชื่อมต่อ’
ซาบรีนา กล่าวว่า บทบาทสำคัญของเทคโนโลยี 5จี ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และ เอไอ ที่มีต่อผู้บริโภค จะนำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งการซื้อและขาย
ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสื่อสาร การให้บริการผู้บริโภคสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จากการให้บริการเครือข่าย เมื่อเทคโนโลยี 5จี มีการเข้าถึงและใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้ยังนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ปริมาณการใช้งานวีดิโอความละเอียดสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ในอนาคต เทคโนโลยี 5จี จะปูทางให้กับอุปกรณ์และแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่มอบประสบการณ์ที่สมจริงมากยิ่งขึ้น เช่น โซลูชัน 5จี New Calling และเทคโนโลยี Naked-eye 3D
ไม่เพียงเท่านั้น 5จี ยังเปิดประตูไปสู่ยุคใหม่ของการเชื่อมต่อแบบพิเศษระหว่างวัตถุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเป็นการเสริมศักยภาพให้กับเครือข่ายอุปกรณ์ไอโอที และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในรูปแบบใหม่ๆ
ขุมพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
ที่ผ่านมา เทคโนโลยี 5จี มอบศักยภาพในการพลิกโฉมให้กับอุตสาหกรรม เปรียบเสมือนตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมรรถภาพและยกระดับประสิทธิภาพในหลายๆ อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ หากบูรณาการเทคโนโลยี 5จี ไว้ในระบบการผลิตสามารถรองรับกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพิ่มความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกที่มีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ความอุตสาหะเชิงกลยุทธ์ รวมไปถึง การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI)
สำหรับในประเทศไทย มีการปรับใช้อย่างหลากหลายเช่นกัน ปัจจุบัน ประเทศไทยมียอดผู้ใช้งาน 5จี แล้วมากกว่า 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 40% ของจำนวนผู้ใช้งาน 5จี ในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ อัตราการเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้งาน 5จี เทอร์มินอล และการใช้ข้อมูลบนโครงข่าย 5จี ยังมากกว่า 20% จากการจัดอันดับโดยสมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก (GSMA) ประเทศไทยติดหนึ่งในเมือง 10 อันดับแรกของโลกที่มีการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยี 5จี อย่างแพร่หลาย
ยุคแห่ง 5.5จี กำลังใกล้เข้ามา
เมื่อมองสู่อนาคต “เทคโนโลยี 5.5จี” หรือ ที่หัวเว่ยใช้ชื่อว่า “5จี Advanced” จะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่เทคโนโลยี 6จี ที่มีการต่อยอดให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
โดยเทคโนโลยี 5.5จี ในอุตสาหกรรมการสื่อสารกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีขั้นสูงนี้คาดว่าจะเข้ามายกระดับความสามารถของเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า และจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเครือข่ายอีก 100 เท่า
สำหรับ หัวเว่ยทิศทางธุรกิจให้ความสำคัญใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเชื่อมต่อสำหรับผู้คน วัตถุสิ่งของ ยานยนต์ อุตสาหกรรม และบ้านพักที่อยู่อาศัย
หัวเว่ยเชื่อว่า การให้การสนับสนุนจากลูกค้า พันธมิตรในอีโคซิสเต็ม สมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา จะช่วยเดินหน้ายกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น
“ในโลกอัจฉริยะแห่งอนาคตระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจะถูกบูรณาการอย่างไร้รอยต่อกับทุกแง่มุมในชีวิตของผู้คน อุตสาหกรรม และสังคมโดยรวมอย่างสมบูรณ์”