‘หัวเว่ย’ ปลุกไทยรับ ‘AI’ เผย 'AI Pangu' (ผ่านกู่) เวอร์ชั่นไทยมาแน่ ปี 67

‘หัวเว่ย’ ปลุกไทยรับ ‘AI’ เผย 'AI Pangu' (ผ่านกู่) เวอร์ชั่นไทยมาแน่ ปี 67

'หัวเว่ย' เร่งดันนวัตกรรมอีโคซิสเต็ม "ระบบคลาวด์ และ AI" ในประเทศไทย ปูเส้นทางสู่อนาคตดิจิทัล  ชี้ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ จะสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นกับความสามารถ AI ที่นำมาใช้สร้างความต่างชัดเจนให้องค์กรแค่ไหน เผย 'AI Pangu' (ผ่านกู่) เวอร์ชั่นไทยมาแน่ปี 67

นอกจากเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง 5G คลาวด์ หรือพลังงานดิจิทัล เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในหลายภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเงิน ไปจนถึงการสื่อสาร ทุกภาคส่วนล้วนนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรองรับการใช้ AI อย่างแพร่หลายได้ถูกสร้างขึ้นจนพร้อมใช้งานแล้วในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือเหล่าผู้ประกอบการในไทย พร้อมแล้วหรือยังที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในการทำธุรกิจที่จับต้องได้จริง และเทคโนโลยี AI จะผลักดันประเทศไทยไปในทิศทางใด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี คลาวด์ และ AI เป็นหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันและสร้างประโยชน์ให้ทั้งฝั่งภาครัฐและภาคเอกชน ธุรกิจส่วนตัวและองค์กรต่างล้วนมองหาเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ โดยปัจจุบัน หัวเว่ย ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันให้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI มาประยุกต์ใช้ในกลุ่มธุรกิจและองค์กรในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย

‘หัวเว่ย’ ปลุกไทยรับ ‘AI’ เผย \'AI Pangu\' (ผ่านกู่) เวอร์ชั่นไทยมาแน่ ปี 67

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวภายในงาน “HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่นำมาใช้จะสามารถสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนให้กับองค์กรของได้อย่างไร

ความสามารถและความรวดเร็วของแต่ละองค์กรในการเปิดรับเทคโนโลยี AI ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยี AI นั้นสามารถใช้งานได้จริงแค่ไหน ประเทศไทยเองถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวทางและกลยุทธ์ ที่ชัดเจนในการสนับสนุนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งหัวเว่ยเชื่อว่าสามารถนำเทคโนโลยี AI สร้างความแตกต่าง ที่เห็นได้จริงในหลากหลายอุตสาหกรรมของไทย

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้สำเร็จได้นั้น เทคโนโลยีพื้นฐาน ทักษะของผู้ใช้งานความสามารถในการพัฒนาเชื่อมต่อและการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อนโยบายด้านเทคโนโลยี AI ของประเทศ

 

ดร.ชวพล เสริมว่า หัวใจสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้นอกจากจะขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการประมวลผลของแต่ละอัลกอริทึมหรือระบบที่แตกต่างกันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ของตนเองด้วย ซึ่งจุดนี้เองที่อาจจะเป็นส่วนที่ประเทศไทยยังขาด เพราะปัจจุบันยังมีการขาดความรู้ความเข้าใจตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสากรรมนั้นๆ

ดังนั้น และหนึ่งในพันธกิจสำคัญของหัวเว่ยคือเป็นการเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ผ่านโครงการ Cloud Developer หรือโปรแกรม Spark เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศไทย

“ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยี AI Pangu (ผ่านกู่) มาใช้ในอุตสาหกรรมการทำเหมืองที่มีความเสี่ยงสูงในด้านอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ได้ การนำ AI มาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานที่มีความอันตรายได้ ด้วยการระบบการจัดการปฏิบัติงาน รวมถึงช่วยตรวจสอบความผิดพลาดได้ทันที"

อีกตัวอย่างคือ โมเดลการพยากรณ์อากาศ ซึ่งเหมาะกับประเทศที่พึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลักอย่างประเทศไทย เพราะการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำส่งผลให้เกษตรกร ธุรกิจในภาคเกษตรกรรม เข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้

โดยหน่วยงานการพยากรณ์อากาศแห่งทวีปยุโรป (European Weather Forecasting Agency) ได้นำโมเดลการพยากรณ์อากาศของ Pangu  ไปใช้งาน และสามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่เคยทำมา โดย Pangu สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ ภายในเวลาเพียง 10 วินาที ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ทำให้ผู้คนสามารถทราบสภาพอากาศ ที่แม่นยำได้แทบจะทันที

นายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยกอีกตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในองค์กรภาคเภสัชกรรม ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประมวลเพื่อพัฒนาแนวทางการ และประมวลผลข้อมูลยาเพื่อการรักษารักษาผู้ป่วย ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในธุรกิจแฟชั่นของประเทศจีน ยังได้นำ AI ของ Pangu มาใช้ เพื่อวิเคราะห์เทรนด์แฟชั่นในอนาคต รวมถึงการช่วยตรวจสอบและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในชิ้นงานออกแบบใหม่ๆ ในธุรกิจการเงินก็ได้นำ Pangu AIมาใช้เพื่อคาดการณ์ สถานการณ์ในอนาคต โดยมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 เทียบกับการคำนวณด้วยเครื่องมือของบริษัทฯ ที่มีความแม่นยำเฉลี่ยเพียงร้อยละ 70-80 เท่านั้น

การใช้งาน AI ของ Pangu สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศไทยได้ เพื่อช่วยให้เหล่าอุตสาหกรรมและองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐหรือเอกชนได้เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จและการเพิ่มประสิทธิผลขององค์กรในทุกมิติ

“ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นองค์กรส่วนใหญ่นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยในปี  2567 Pangu AI จะสนับสนุนการใช้งานภาษาไทย เพื่อมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งาน” นายสุรศักดิ์ ทิ้งท้าย

ขณะที่ การเสริมสร้างอีโคซิสเต็มทางดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และหัวเว่ย ได้ร่วมลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรมประเทศไทย (Thailand Innovation Center) มีเป้าหมาย ผสานความร่วมมือ ของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการบริการทางด้านดิจิทัลผ่านการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ AI และบิ๊กดาต้า รวมถึงการบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ ผ่าน Huawei Spark Incubator Program และ Huawei Developer Program