ย่ำ 'เซินเจิ้น' ทัวร์ 'หัวเว่ย ยูโรเปียน ทาวน์' ฐานใหญ่ แล็บไซเบอร์เวิลด์คลาส
ย่ำอาณาจักรมังกร เยือนเมือง 'เซินเจิ้น' ฐานบัญชาการหัวเว่ย ... หัวเว่ย เริ่มสร้างที่นี่ 'หัวเว่ย ยูโรเปียน ทาวน์' เมื่อปี 9 ปีที่แล้ว มีอาคารทั้งหมด 108 อาคาร มีพนักงานอยู่ 25,000 คน บนพื้นที่รวมประมาณ 1.4 ล้านตารางเมตร โดยทั้งหมดใช้งบประมาณในการสร้างประมาณ 5 แสนล้านบาท!!!
'หัวเว่ย ยูโรเปียน ทาวน์' ที่เมืองตงกวนห่างจาก เซินเจิ้น ไปราว 1 ชั่วโมงถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมทรงยุโรปคลาสสิกโดยผู้ก่อตั้งของหัวเว่ย เองได้แรงบันดาลใจจากเมืองที่ตัวเองชื่นชอบแบ่งออกเป็น 12 เมือง อาทิ ปารีส ไฮเดอแบรต์ เวโรน่า กานาด้า และ เชสกี้ ครุมลอฟ เริ่มสร้างเมื่อปี 9 ปีที่แล้ว
มีอาคารทั้งหมด 108 อาคาร มีพนักงานอยู่ 25,000 คน บนพื้นที่รวมประมาณ 1.4 ล้านตารางเมตร โดยทั้งหมดใช้งบประมาณในการสร้างประมาณ 5 แสนล้านบาท รวมเรียกทั้งหมดนี้ว่า Huawei Ox Horn Campus
หนึ่งในแล็บที่สำคัญ คือ "ศูนย์โปร่งใสด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์" และ "การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก" หรือ "ดิจิทัล แล็บ" ที่ใหญ่ที่สุดในจีนของหัวเว่ย เพื่อสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถทั่วทั้งอุตสาหกรรม ร่วมแบ่งปันความรู้ และความร่วมมือที่เข้มข้นกับพาร์ทเนอร์ยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ฯมีการกำกับดูแลทางไซเบอร์และทำงานเกี่ยวกับโซลูชั่นทางเทคนิค
ออกแบบมาเพื่อสาธิตโซลูชั่นอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและนวัตกรรมร่วมกัน และสนับสนุนการทดสอบและการตรวจสอบความปลอดภัย โดยจะเปิดให้หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรทดสอบอิสระจากภายนอก และองค์กรมาตรฐาน รวมถึงลูกค้า คู่ค้า และซัพพลายเออร์ของหัวเว่ยเข้ามาตรวจสอบได้ตลอดเวลา
อีกทั้ง เพื่อส่งเสริมแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวในการรักษาความปลอดภัยทาง ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมองค์กรต่างๆ เช่น GSMA และ 3GPP หัวเว่ย ยังได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมข้อกำหนดการประกันความปลอดภัยของ NESAS (Network Equipment Security Assurance Scheme) ซึ่งเป็นกรอบการรับรองความปลอดภัยที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง
ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการพัฒนาระดับความปลอดภัยของอุปกรณ์โครงข่ายอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและการตรวจสอบเครือข่ายที่ปลอดภัย การส่งมอบบริการที่มีอยู่และใหม่ในยุค 5G เพื่อการเชื่อมต่อที่ได้รับจากเครือข่ายมือถือเป็นอย่างมาก
หัวเว่ย มองว่า บนเทคโนโลยีพื้นฐานที่ปลอดภัยและเชื่อถือ ภายใต้ศูนย์ฯได้รับการออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก ในการปรับปรุงระดับความปลอดภัยของอุปกรณ์เครือข่ายทั่วทั้งภาคส่วน รัฐบาล องค์กรกลางระดับมาตรฐาน และผู้ให้บริการเทคโนโลยี ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่รุนแรงอยู่ในขณะนี้
หัวเว่ย-สกมช.เฟ้นคนไอทีรับมือภัยคุกคาม
สุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงมาตรการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเทคโนโลยีของหัวเว่ยว่า ในฐานะซัพพลายเออร์เทคโนโลยี 5G ในระดับโลก เราจำเป็นต้องพัฒนาอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ของประเทศไทย
โดยระบบ 5G ของเราจะเปรียบเสมือนการล็อคกุญแจ มีความปลอดภัยเหมือนการล็อครหัส 2 ชั้น มีการเข้ารหัสข้อมูล ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้แฮ็กเกอร์ถอดรหัสได้ยาก เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหัวเว่ยมีโซลูชั่นประเภทไอโอที มากขึ้น และปริมาณการใช้งานผ่านระบบและโซลูชั่นประเภทไอโอที ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทั้งระบบ ดังนั้นหากระบบรักษาความปลอดภัยไม่มีประสิทธิภาพมากพอก็อาจจะถูกโจมตี รวมถึงอาจทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานล่มได้
แล็ปที่ตงกวนนี้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของหัวเว่ย ส่วนประเทศไทยเอง เรามองเห็นว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลกในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ที่สำคัญคือต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ล่าสุด เดินหน้าจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ “Thailand Cyber Top Talent 2023” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เป็นปีที่ 3 เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในประเทศไทย พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการพัฒนาคน
วัตถุประสงค์หลัก มุ่งเปิดโอกาสให้คนจากหลากหลายกลุ่ม หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมศึกษา คนพิการ องค์กร รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจจากทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างประสบการณ์ ปูทางสร้างแรงงานออกสู่ตลาดในอนาคต พร้อมสร้างการตระหนักรู้ให้กว้างมากขึ้น ซึ่งในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 800 ทีม รวม 2,000 คน