‘หัวเว่ย’ ชี้ วิวัฒนาการ ‘5G’ กำหนด 5 เทรนด์อนาคต ‘ดิจิทัลอัจฉริยะ’
งานประชุม โกลบอล โมบายล์ บรอดแบนด์ (Global Mobile Broadband Forum) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเร็วๆ นี้ “หัวเว่ย” เป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ระดับโลก ได้นำเสนอแนวคิดพร้อม ชี้เทรนด์อนาคตของดิจิทัลอัจฉริยะบนเครือข่ายเทคโนโลยีที่กำลังมีวิวัฒนาการต่อเนื่องอย่าง 5จี
‘หลี่ เผิง’ รองประธานอาวุโสของบริษัท และประธานกลุ่มธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม (Carrier BG) หัวเว่ย ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การขับเคลื่อนวงจรธุรกิจ 5จี เชิงบวกและการเปิดรับ 5.5G (5G-A) โดยเรียกร้องให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลก และพันธมิตรในอุตสาหกรรมคว้าโอกาส ตอบสนองความต้องการเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และใช้แนวโน้มในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“มาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ ด้วยการสร้างเครือข่ายแห่งอนาคตเพื่อรองรับบริการในอนาคต พร้อมปลดปล่อยศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของ 5จี เพื่อความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องสู่ความสำเร็จของธุรกิจ 5จี โดย 5G-Advanced ก็คือก้าวต่อไปในวิวัฒนาการของ 5จี”
เขาย้ำว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญทุกครั้งล้วนเป็นผลมาจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีอเนกประสงค์ (General Purpose Technology) ซึ่งตอนนี้โลกอยู่ในยุคดิจิทัล ซึ่งอินเทอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
5จี เปิดตลาด และโอกาสใหม่
“5จี เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ และทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีอเนกประสงค์ และสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว 5จี กำลังช่วยเปิดตลาดและโอกาสใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว”
เครือข่ายมือถือในอนาคตจำเป็น ต้องมีคุณสมบัติหลัก 6 ประการ ได้แก่
- ดาวน์ลิงก์ 10 Gbps
- อัปลิงก์ 1 Gbps
- เครือข่ายเชิงกำหนด (Deterministic Networking)
- รองรับการเชื่อมต่อ IoT นับแสนล้าน
- เซนเซอร์และการสื่อสารแบบควบรวม (Integrated Sensing & Communications)
- ความสามารถด้านเนทีฟ เอไอ (native AI)
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้เล่นในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถอย่างต่อเนื่องใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ความเร็วการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่เพิ่มขึ้น การรองรับการสื่อสารของอุปกรณ์จำนวนมาก รวมถึงการสื่อสารที่มีเสถียรภาพสูงและความหน่วงต่ำ
อีกทั้งยังต้องพัฒนาความสามารถใหม่ 3 เรื่อง คือ การสื่อสารบรอดแบนด์ที่มุ่งเน้นการอัปลิงก์ การสื่อสารบรอดแบนด์แบบเรียลไทม์ รวมถึงเซนเซอร์และการสื่อสารแบบประสาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง 5จี-แอดวานซ์ (5G-Advanced) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการก้าวต่อไปของเทคโนโลยี 5จี ผู้บริหารหัวเว่ย มองว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศของอุปกรณ์และแอปพลิเคชัน ระบุกรณีการใช้งาน ตลอดจนเร่งดำเนินการเชิงพาณิชย์ในส่วนของโซลูชัน FWA Square, Passive IoT และ RedCap
- เปิด 5 เทรนด์ใหม่กำหนดอนาคต
ความพยายามเหล่านี้ มีความสำคัญในการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก 5 เทรนด์ใหม่ ที่หัวเว่ยมองว่า จะเป็นตัวกำหนดอนาคตดิจิทัลอัจฉริยะ ได้แก่
1.การดูวิดีโอ 3 มิติโดยไม่ต้องใส่แว่น
อุตสาหกรรมการดูวิดีโอ 3 มิติโดยไม่ต้องใส่แว่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการเรนเดอร์บนคลาวด์และมนุษย์เสมือนจริง 3 มิติแบบเรียลไทม์ จะยกระดับประสบการณ์ที่ดื่มด่ำสมจริงไปอีกขั้น และในอนาคต อุปกรณ์มากมาย เช่น โทรศัพท์มือถือและทีวี จะรองรับการดูวิดีโอ 3 มิติโดยไม่ต้องใส่แว่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้การรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าเมื่อเทียบกับวิดีโอ 2 มิติ
2.ยานพาหนะนำทางอัตโนมัติ
ภายในปี 2568 จะมีรถยนต์อัจฉริยะมากกว่า 500 ล้านคันบนท้องถนน เครือข่ายที่มีแบนด์วิดท์สูงและความหน่วงต่ำจะช่วยให้ยานพาหนะอัจฉริยะสามารถแบ่งปันข้อมูลกับผู้ขับขี่ ยานพาหนะ ถนน และระบบคลาวด์ได้แบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ ในโหมดช่วยขับ ยานพาหนะอัจฉริยะจะใช้ข้อมูลมากกว่า 300 กิกะไบต์ทุกเดือนเพื่อฝึกโมเดลบนคลาวด์และอัปเดตอัลกอริทึมรายสัปดาห์ ส่วนในโหมดขับขี่อัตโนมัติ ปริมาณการใช้ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า
3.การผลิตยุคใหม่
ด้วยความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น การแบ่งเครือข่าย (Network Slicing) และการประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge Computing) ทำให้จำนวนเครือข่ายส่วนตัว 5จี สำหรับการใช้งานระดับองค์กรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า และขนาดของตลาดก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสายการผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พึ่งพาเครือข่ายไร้สายมากขึ้น และระบบการผลิตหลักถูกโยกไปอยู่บนคลาวด์มากขึ้น ดังนั้นเครือข่าย 5จี จึงมีข้อกำหนดที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ หัวเว่ย ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่าย และพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสายการผลิตทดลอง 5จี-แอดวานซ์ เป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม สำหรับสายการผลิตนี้ 5จี-แอดวานซ์ จะรองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายเชิงกำหนดที่ใช้งานพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เชื่อมพลังการประมวลผลระหว่างคลาวด์กับเอดจ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.การเชื่อมต่อ IoT อย่างง่ายดาย
มีการเชื่อมต่อไอโอที (IoT) บนมือถือมากกว่า 3 พันล้านครั้งทั่วโลก และปัจจุบัน 5จี รับบทบาทในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มากกว่าผู้คน ในอนาคตอันใกล้นี้ 5จี จะรองรับเทคโนโลยีไอโอที ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น RedCap และ Passive IoT ซึ่งจะมอบตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับรูปแบบการใช้งานไอโอทีที่ต่างกันไป ช่วยให้การไหลเวียนของข้อมูลและสารสนเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมถึงพลังการประมวลผลเพิ่มมากขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน Passive IoT ช่วยให้มองเห็นห่วงโซ่การผลิตและการจัดจำหน่ายทั้งหมด และช่วยเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้ถึง 30% ในการทดลองหลายครั้ง
5.รับประกันการประมวลผลอัจฉริยะทุกที่
ด้วยการพัฒนาใหม่ๆ ในด้านเอไอ เช่น โมเดลพื้นฐาน ส่งผลให้ความต้องการพลังการประมวลผล เอไอ เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2568 ความต้องการนี้คาดว่าจะมากกว่าระดับปัจจุบันถึง 100 เท่า ทั้งนี้ เพื่อปลดปล่อยพลังการประมวลผล เอไอ อย่างเต็มศักยภาพ
"หัวเว่ย" เชื่อว่า ความสามารถเพิ่มเติมของเครือข่ายขั้นสูง คือ กุญแจสำคัญ โดยเครือข่ายจำเป็นต้องมีแบนด์วิธมากขึ้นและความหน่วงต่ำลงเพื่อสร้างการเชื่อมต่ออัจฉริยะอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เมื่อรูปแบบการรับส่งข้อมูลเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เครือข่ายในอนาคตจะต้องมีความเป็นอิสระและชาญฉลาดมากขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่เชื่อถือได้