คุย ‘ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์’ ปธ.บอร์ดป้ายแดง พา ‘เอ็นที’ หาน่านน้ำใหม่ฟื้นธุรกิจ
คนเอ็นทีต้องมีบิสซิเนส มายด์ให้มากกว่านี้ เราอยู่ในเซฟโซนมานานเป็นเสือนอนกินมาตลอด แต่ถึงตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้ฝ่ายบริหารเอ็นทีหารายได้ใหม่ทดแทนรายได้จากสัมปทานโทรศัพท์มือถือปีละ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะหมดลงในเดือน ก.ย.2568 โดยยึดหลักในการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมภาครัฐ ด้วยราคาสมเหตุสมผล ไม่แพงไปกว่าผู้ให้บริการเอกชน ยึดกำไรระยะยาว ที่สำคัญคือ ต้องหาพันธมิตรในการทำธุรกิจในสิ่งที่เอ็นทีไม่ถนัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
เน้นบริหารเงินสด-สินทรัพย์กว่า 3 แสนล.
สิ่งแรกที่สามารถทำได้ทันที คือ การนำกระแสเงินสดประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากการกันไว้จ่ายสำหรับคดีต่างๆ หากแพ้คดีแล้ว เอ็นที ควรนำเงินที่ได้ไปลงทุนให้มากกว่านี้ เช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเอ็นทีมีรายได้จากการลงทุนประมาณ 1% ให้เป็น 3% ในปี 2567
ประการต่อมาคือการนำสินทรัพย์ทั้งอาคารและที่ดินที่มีอยู่กว่า 2,400 ไร่ มูลค่ากว่า 2 แสนบาท ให้เกิดประสิทธิภาพและมีรายได้จากค่าเช่ามากกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเข้ามาทำงาน หรือ อาจแยกออกมาเป็น 1 ในบริษัทลูกตามแผนเอ็นที ซึ่งปีนี้จะสร้างบริษัทลูกออกมา 2-3 บริษัท เพื่อแยกธุรกิจดาวเด่นออกมาให้ชัดเจน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถนำคนบริษัทแม่ออกมาทำงาน รองรับงานทั้งบริษัทแม่ และบริษัทอื่นๆ เพื่อให้บริษัทแม่เป็นเพียง โฮลดิ้ง คอมพานี
โดยภายในปีนี้ เอ็นที มีแผนจะปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น ด้วยการลดตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ซ้ำซ้อนกันจาก 13 คน เหลือเพียง 9 คน
เบนเข็มหาลูกค้า 5G เน้นไอโอที
สำหรับคลื่น 700MHz ที่ประมูลมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.นโยบายคือไม่ควรให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่เหมาะกับการให้บริการไอโอที เช่น บริการสมาร์ทไอโอที เอ็นทีควรเป็นผู้ให้บริการกับภาครัฐ เช่น การให้บริการสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อลดภาระคนจดมิเตอร์ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนคลื่น 26GHz ซึ่งตอนนี้ผู้ให้บริการทุกรายที่ประมูลคลื่นความถี่มาจากกสทช.ต่างประสบปัญหาเหมือนกันคือยังไม่มียูสเคสการใช้งาน ดังนั้น เอ็นที ควรเป็นหน่วยงานหลักในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้ให้บริการทุกรายมาใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่สำคัญคือ ต้องเข้าไปหาตลาดกลุ่มโรงงานเกิดใหม่ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมเดิม ล้วนมีการวางโครงสร้างพื้น ฐานไฟเบอร์กันหมดแล้ว เอ็นที ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ การนิคมอุตสาหกรรมไปแล้วกว่า 1 ปี เพื่อลงโครงสร้างพื้นฐาน 5G คลื่น 26GHz ในการให้บริการโรงงานอัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้เอ็นทียังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องเร่งทำงาน เพราะจะกลายเป็นรายได้ที่เป็นรูปธรรม
ขณะที่โครงการท่อร้อยสาย ในการนำสายสื่อสารลงดินนั้น เอ็นที ต้องหาข้อสรุปถึงราคาค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่จำเป็นต้องมองโมเดลธุรกิจกำไรมาก จนไม่มีใครมาใช้บริการ แต่ควรมองความคุ้มค่าและรายได้ในระยะยาว เช่นเดียวกับการเก็บค่าเช่าเสาโทรคมนาคมที่เอ็นทีมีอยู่กว่า 10,000 สถานี ที่ไม่ควรแพง
อาสาลุยจัดการคลาวด์ แพลตฟอร์ม
นายณัฐพล กล่าวว่า นอกจากนี้แนวคิดในการทำคลาวด์ ของเอ็นที ก็ต้องเปลี่ยน แทนที่การลงทุนเองหรือรอเงินลงทุนจากรัฐบาล ก็ควรเปลี่ยนเป็นหาพันธมิตรกับเอกชน ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยเอ็นทีต้องเปลี่ยนเป็นหน่วยงานกลางด้านคลาวด์ของประเทศ เหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ทำแอปพลิเคชันกลางเพื่อให้ทุกรายเข้าถึงบริการ Could Platform Management
“ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบทำคลาวด์ภาครัฐทุก 3 ปี ต้องยอมรับว่า งบประมาณไม่เพียงพอ กับความต้องการ เราทำได้แค่ 20,000 วีเอ็ม ขณะที่ความต้องการพุ่งสูงถึง 800,000 วีเอ็ม ทำภาครัฐก็ยังคงใช้งานของเอกชนอยู่ ”
อย่างไรก็ตาม บอร์ดยังให้นโยบายในการเคลียคดีต่างๆกับเอกชนให้มากที่สุดเพื่อลดความเสียหายในการฟ้องร้องต่อกัน ซึ่งปัจจุบันเอ็นทีมีคดีกับเอกชนกว่า 100 คดี โดยคดีที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท มีประมาณ 17 คดี เป็นคดีที่เอ็นทีฟ้องเอกชนมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และคดีที่เอกชนฟ้องเอ็นทีมูลค่า 80,000-90,000 ล้านบาท
ด้านพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างการเสนอ 5 แผนงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ พิจารณา ได้แก่ 1.แผนการนำสินทรัพย์กว่า 2,400 ไร่ มาให้บริการเช่าเพื่อนำรายได้เข้าบริษัท 2.การตั้งบริษัทลูก 2-3 บริษัทในปีนี้ โดยเน้นธุรกิจทุกด้านที่มีโอกาสทางการตลาด 3.การเป็นศูนย์กลางให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย ไม่เพียงการให้บริการเซิร์ฟเวอร์ แต่ต้องมีการเพิ่มมูลค่าการให้บริการเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลและสร้าง Could Platform Management เพื่อเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการเพิ่มรายได้ดิจิทัลของเอ็นทีจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาทในปี 2570 4.ธุรกิจโมบายล์ เน้นการให้บริการภาครัฐและธุรกิจ และ 5.บรอดแบนด์ ไม่มีการขยายพอร์ต แต่เน้นลงทุนอุปกรณ์ปลายทางเพื่อให้บริการพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นต้น