เดิมพัน 7 แผนธุรกิจชุบชีวิต ‘เอ็นที’ ลุยเอไอ-คลาวด์หาพันธมิตรหยุดเลือดไหล

เดิมพัน 7 แผนธุรกิจชุบชีวิต ‘เอ็นที’ ลุยเอไอ-คลาวด์หาพันธมิตรหยุดเลือดไหล

'เอ็นที' ส่งการบ้าน คนร. ของบปีนี้ 5,000 ล้านบาท คุยเตรียมผุดดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง ขอสิทธิประโยชน์แข่งมาเลเซีย ลั่นอีก 2 ปี ธุรกิจส่อแววสดใสแน่ ระบุหลังตลาดบรอดแบนด์เจอ 'เอไอเอส ซื้อ 3บีบี' ทำตลาดแข่งดุ ต้องหาพาร์ทเนอร์รุกพื้นที่ กทม.

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา เอ็นที ได้เสนอแผนธุรกิจปีนี้เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบ โดยคนร.ขอให้เอ็นทีนำแผนที่เสนอเพิ่มเติม 7 ข้อไปจัดทำรายละเอียดและแผนรายได้เพื่อนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง ภายใต้วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ 2.การหาโอกาสจากเทคโนโลยีเอไอ และบิ๊กดาต้า 3.การดำเนินงานด้านบริการรัฐบาลดิจิทัล 4.การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน  5.ธุรกิจโมบายล์ เพิ่มการขายกลุ่มงานราชการ ให้บริการ M2M และ IoT 6.การพัฒนาบริการ Neutral Last Mile และ 7.การสรรหาพันธมิตรในการธุรกิจบรอดแบนด์

เดิมพัน 7 แผนธุรกิจชุบชีวิต ‘เอ็นที’ ลุยเอไอ-คลาวด์หาพันธมิตรหยุดเลือดไหล

แม้ว่าตอนนี้ผลประกอบการปี 2566 ยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่คาดว่าจะมีผลประกอบการขาดทุน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไรประมาณ 100-200 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น สัญญาจากพันธมิตรที่ต้องชำระ,ค่าใช้จ่ายในการย้ายหน่วยงานในองค์กร รวมถึงคดีที่อาจจะต้องจ่ายประมาณ 100 ล้านบาท บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน 5% จากเดิมที่มีการเพิ่มประมาณ 6.5% 

สำหรับแผนในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ นอกจากแผนการพัฒนาพื้นที่ให้เช่าแล้ว บริษัทยังมีแผนพัฒนาที่ดิน 2 แห่ง จาก 5-6 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล คือ เอ็นทีคลองเตย พื้นที่ 4 ไร่ และเอ็นทีงามวงศ์วาน พื้นที่ 70 ไร่ ในการพัฒนาเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ร่วมกับพันธมิตร เพื่อให้บริการคลาวด์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างชาติสนใจอยู่ 4-5 บริษัท เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง ของเอ็นที ทั้งที่ บางรัก และ นนทบุรี ใกล้เต็มแล้ว จะใช้ได้อีกเพียง 2 ปี ขณะที่การสร้างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี 8 เดือน ดังนั้นจึงต้องเร่งหาข้อสรุป เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนประมาณ 500-1,000 แรค 

“แผนนี้ คนร.ให้ความสำคัญมาก เพราะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ และความต้องการใช้งานมีจำนวนมาก ทว่าบริษัทไม่สามารถทำได้ตามความต้องการเพราะต้องรองบประมาณจากภาครัฐ”

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า คนร.เห็นว่าตลาดคลาวด์โตมากกว่า 10 % ไปถึง 20% ได้อย่างแน่นอน เพราะสิงคโปร์หยุดการเติบโตแล้ว การลงทุนจึงตรงไปที่ประเทศมาเลเซียด้วยสิทธิประโยชน์ภาครัฐที่มากกว่า ดังนั้นเอ็นทีต้องประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในการนำเสนอรัฐบาลออกสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนและเอ็นทีเองก็จะหาลูกค้าบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้น

 “เราต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลจาก 5-10 % ประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็น 20 % หรือหลัก 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ”

สำหรับบริการรัฐบาลดิจิทัล ปีนี้จะเริ่มเห็นการให้บริการแพลตฟอร์มภาครัฐที่เอ็นทีทำ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานฉุกเฉินทางการแพทย์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 16 แห่ง ที่เอ็นทีให้บริการฟรีและใกล้ครบกำหนดแล้ว คาดว่าจะกลายมาเป็นลูกค้าต่อไป

ส่วนแผนการตั้งบริษัทลูกร่วมกับพันธมิตร มั่นใจว่าปีนี้จะมีประมาณ 2-3 บริษัท โดยแนวคิดคือ บริษัทที่ปกติต้องจ้างบริษัทนอกมาดูแลอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรที่สนใจ เพื่อรับทั้งงานในบริษัทแม่และสามารถรับงานบริษัทอื่นๆได้ด้วย อาทิ บริษัทรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน ดูแลสวน และบริษัทไอที เป็นต้น 

พ.อ.สรรพชัยย์ ธุรกิจโมบายล์ เน้นให้บริการรูปแบบ Machine To Machine (M2M) และใช้คลื่น 700 MHz ในการให้บริการ IoT โดยจะเน้นโครงการภาครัฐ ขณะที่ การพัฒนาบริการ Neutral Last Mile เอ็นทีจะเน้นการให้บริการสายไฟเบอร์สู่ครัวเรือนแบบ Single Last Mile ใช้การลากสายเข้าบ้านร่วมกันกับทุกโอเปอเรเตอร์เพื่อป้องกันปัญหาสายรุงรังและลดต้นทุนในการพาดสาย โดยจะเริ่มได้ทันทีในที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ ขณะที่เรื่องท่อร้อยสายลงดินนั้น ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะติดเรื่องงบประมาณและต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

แผนสุดท้ายคือการหาพันธมิตรในการให้บริการบรอดแบนด์ ต้องยอมรับว่าบรอดแบนด์เป็นธุรกิจที่ขาดทุนมาโดยตลอด ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่แม้ว่าเอ็นทีจะมีความสามารถในการให้บริการ 2,400 กิโลเมตรท่อ มีพนักงานให้บริการกว่า 2,000-3,000 คน แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับเอกชนได้ ทั้งเรื่องราคา โปรโมชั่น และการบริการ ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการหาพันธมิตรเพื่อมาทำงานร่วมกับเอ็นที โดยอาจนำร่องหาพันธมิตรทำบรอดแบนด์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน เพราะแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีความพร้อมด้านโครงข่ายอย่างมาก แต่สัดส่วนลูกค้าและรายได้น้อยกว่าตลาดอื่นๆ ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะเอกชนแข่งขันด้านราคาอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากที่เอไอเอส ไฟเบอร์ เข้าซื้อกิจการจาก 3บีบี ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่เจ้าตลาดอย่างทรูออนไลน์ลงมาแข่งขันราคาอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม  พ.อ.สรรพชัยย์ ยังได้เปิดเผยประมาณการณ์ผลประกอบการปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 87,983 ล้านบาท มีรายจ่ายอยู่ที่ 89,882 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะขาดทุนราว เกือบ 2,000 ล้านบาท  โดยรายได้ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 8,965 ล้านบาท , กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ 2,190 ล้านบาท,กลุ่มโมบายล์ 47,889 ล้านบาท ,กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ 18,673 ล้านบาท ,กลุ่มดิจิทัล 4,303 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 5,960 ล้านบาท