AWS ผนึกพันธมิตรโชว์เคสโมเดล ‘Generative AI’ ตอบโจทย์ตลาดอาเซียน
การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2567 ของเวอร์เนอร์ โวเกลส์ (Werner Vogels) ซีทีโอของบริษัท Amazon ได้คาดการณ์ไว้ว่า Generative AI จะสามารถรับรู้ด้านวัฒนธรรมมากขึ้น
Keypoints :
- ประเดิมโครงการ SEA-LION เป็นครั้งแรกสำหรับภูมิภาค
- มุ่งเน้นไปที่ภาษาที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ยกระดับด้านการสื่อสาร ช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น
สำหรับเส้นทางที่จะสร้างความเป็นไปได้ การเทรนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large language models: LLM) เป็นแขนงหนึ่งในหมวดหมู่ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) ด้วยข้อมูลที่หลากหลาย นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ลึกซึ้งและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือการทำให้ Generative AI เข้าถึงผู้คนหลากหลายกลุ่มและเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม LLM นั้นพึ่งพาข้อมูลที่ได้รับจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นในรูปแบบภาษาและอักษรที่ถูกใช้จำนวนมาก อย่างเช่นภาษาอังกฤษ ที่มีข้อมูลสำหรับการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing: NLP) อยู่มากมาย
สิ่งสำคัญที่องค์กรต่างๆ มองข้ามไม่ได้คือความสามารถในการดัดแปลง LLM ด้วยข้อมูลและภาษาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความมีส่วนร่วมในสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชน
คิกออฟ SEA-LION’ โครงการแรกสำหรับภูมิภาค
AWS ร่วมกับ AI สิงค์โปร์ (AI Singapore: AISG) โชว์เคสการพัฒนาที่น่าสนใจ เช่น “SEA-LION” ซึ่งเป็นโครงการด้าน LLM ที่ถูกเทรนและรับคำสั่งเฉพาะเจาะจงสำหรับภาษาและวัฒนธรรมจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SEA-LION ยังทำหน้าที่เป็นรากฐานสำหรับโครงการ National Multimodal LLM ของสิงคโปร์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนในการวิจัยและนวัตกรรมด้าน AI ของประเทศ
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ National AI Strategy 2.0 ซึ่งเป็นแผนการใช้เทคโนโลยี AI ในสิงคโปร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โมเดลนี้จะมุ่งเน้นไปที่ภาษาที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เช่น บาฮาซาอินโดนีเซีย บาฮาซามลายู ไทย และเวียดนาม และในระยะยาวจะถูกขยายไปยัง ภาษาอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามา เช่น พม่าและลาว
เร่งพัฒนา Generative AI แบบเจาะจงในแต่ละท้องถิ่น (Hyper-local)
SEA-LION พร้อมใช้งานแล้วบน Amazon SageMaker JumpStart รวมทั้งโมเดลที่ได้รับการเทรนล่วงหน้า (pre-trained models) และเปิดให้ใช้งานแบบสาธารณะ เพื่อช่วยลูกค้าทั่วโลกในการเริ่มต้นใช้งานกับแมชีนเลิร์นนิง (ML)
เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 AISG ได้ทำการเปิดตัวโมเดล SEA-LION เชิงพาณิชย์ ด้วยพารามิเตอร์เพื่อรองรับการปรับแต่งคำสั่งและจะมีความสามารถมากขึ้นในการจับความแตกต่างทางภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมไปถึงปรับปรุงความเข้าใจในบริบทต่างๆ พัฒนาการใช้เหตุผลในหลายภาษา และสร้างผลลัพธ์ที่มีบริบทมากยิ่งขึ้น
AWS ระบุว่า การสร้าง การเทรน และการใช้งาน LLM ต้องใช้เวลา ทรัพยากรการประมวลผลจำนวนมาก และความเชี่ยวชาญ AISG จึงได้ร่วมมือกับ AWS เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้
โดยการใช้ประสิทธิภาพอันทรงพลังของคลาวด์สำหรับงานต่างๆ เช่น การเทรน ML และการประมวลผลประสิทธิภาพสูงโดยใช้ NVIDIA A100 Tensor Core GPU ซึ่งมอบผลลัพธ์ระดับสูงสุดพร้อมเครือข่ายที่รวดเร็วและตอบสนองไว
เอลซี่ ตัน ผู้จัดการประจำประเทศสิงคโปร์ ฝ่ายภาครัฐทั่วโลAWS กล่าวว่า LLM ที่มีความเฉพาะด้านภาษาและวัฒนธรรม เช่น SEA-LION ของ AISG จะช่วยให้การสื่อสารและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมราบรื่นยิ่งขึ้น ช่วยรักษารายละเอียดทางวัฒนธรรม และช่วยให้ภาครัฐและธุรกิจสามารถให้บริการประชาชนและลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดีขึ้น