ครบ 1 ปีหลังควบรวม ’ทรู‘ลั่นปี‘67มีกำไรแน่ ยันค่าโทรไม่แพง-สัญญาณดี
ครบ 1 ปีหลังทรูควบดีแทค วันนี้ทรูประกาศวิสัยทัศน์พร้อมดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส ประกาศ 3 กลยุทธ์หลัก ปูทางเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
KEY
POINTS
- คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวมโดยในทางกลับกันภายหลังการควบรวมนั้น สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทค ดีขึ้นทันที
- บริษัทตั้งเป้าปรับปรุงโครงข่ายทั้งสิ้น 17,000 เสาสัญญาณ จากจำนวนที่ให้บริการทั้งประเทศรวม 55,000 เสาสัญญาณ โดยจะทยอยดำเนินการอัปเกรดให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
- ความคืบหน้าในการขอทำธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวล แบงก์) นั้นบริษัทยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าสนใจเข้าร่วม การแต่ถ้าจะเข้าร่วมจริงๆทรูจะไปพร้อมกับพันธมิตรเท่านั้น
- ขอรอดูความชัดเจนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กสทช.จะกำหนด โดยเฉพาะราคาการประมูลคลื่นเพราะยอมรับว่าราคาเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในแผนบริหารธุรกิจ
- ในปี 2567 ทรู เดินหน้าผสานพลังโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมล้ำสมัยและระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร ผนวกอัจฉริยภาพเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- พลิกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ภายหลังการควบรวมครบ 1 ปี พร้อมทำกำไรในปี 2567 และในปี 2568 บริษัทจะมีผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิให้ได้
การควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู-ดีแทค และประกาศการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และใช้ชื่อเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท โดยมาถึงวันนี้ครบ 1 ปีบริบูรณ์ท่ามกลางเสียงดราม่าจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนที่โอดครวญว่า ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นสวนทางกับคุณภาพสัญญาณที่ลดลง
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมของคนไทยที่ผ่านมามีการบริโภคดาต้าที่สูงขึ้นเฉลี่ย 20% โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เป็นวีดีโอในหลายๆแอปพลิเคชั่น ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจว่า ทรูมีการนำเสนอแพคเก็จโปรโมชั่นที่มีความหลากหลายให้กับผู้บริโภคและอัตราค่าบริการไม่ทั้งราคาถูกและราคาเหมาะสมกับการใช้งานสำหรับลูกค้าที่ต้องการความเร็วสูง และการร้องเรียนเรื่องคุณภาพสัญญาณที่เข้ามาในบริษัทก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยืนยันว่า คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวมโดยในทางกลับกันภายหลังการควบรวมนั้น สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทค ดีขึ้นทันที จากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยทรูมุ่งมั่นการให้บริการโดยมีคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมา เราได้พัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) แล้วมากกว่า 2,400 เสาทั่วประเทศ และมีแผนจะเพิ่มเป็น 10,000 เสา
ผสานเน็ตเวิร์กเป็นหนึ่งเดียว
ในปี 2567 อีกทั้งยังผสานโครงข่ายเตรียมพร้อมเป็นเครือข่ายเดียว (One Integrated Network) รวมถึงการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ทุกย่านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานบนเครือข่ายที่ครอบคลุมมากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น ในปี 2567 นี้ ทรูได้จัดสรร งบลงทุน (CAPEX) มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการลงทุนในระบบหลังบ้าน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของทั้งองค์กร เพื่อให้ทรู ตอกย้ำเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปรับปรุงโครงข่ายทั้งสิ้น 17,000 เสาสัญญาณ จากจำนวนที่ให้บริการทั้งประเทศรวม 55,000 เสาสัญญาณ โดยจะทยอยดำเนินการอัปเกรดให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
“1ปีแรกหลังการควบรวมสิ่งที่เห็นหลังจากปรับโครงสร้างองค์กร พนักงานของทรูและดีแทคมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวอย่างมาก เชื่อมั่นในนโยบายจากบอร์ดส่งต่อมายังผู้บริหาร ทำให้เรามั่นใจว่าจะส่งต่อไปยังลูกค้าได้อย่างดี
อุบโดดเข้าร่วมวงเวอร์ชวลแบงก์
นายมนัสส์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศเกณฑ์การขออนุญาตการทำธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวล แบงก์) นั้นบริษัทยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าทรูสนใจเข้าร่วม หรือจะให้บริษัทในเครือเข้ามาดำเนินการแต่ถ้าจะเข้าร่วมจริงๆทรูจะไปพร้อมกับพันธมิตรเท่านั้น
รอเงื่อนไขการประมูลจากกสทช.
เขา กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีความคืบหน้าล่าสุดจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ กสทช.จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่เพื่อนำคลื่น 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz และ 3500 MHz มาประมูล ล่วงหน้า เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ใช้อยู่คือ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568 นั้น
เขา ระบุว่า ขอรอดูความชัดเจนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กสทช.จะกำหนด โดยเฉพาะราคาการประมูลเพราะยอมรับว่าราคาเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในแผนบริหารธุรกิจ ดังนั้น ก่อนที่ไทยจะก้าวสู่ 6G เอกชนก็ต้องการพยุงธุรกิจจากความผันผวนของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ยืนยันว่าบริษัทมีการวางแผนสำหรับทุกๆคลื่นความถี่อยู่ตลอดและมองหาโอกาสเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด ในการเติมคลื่นความถี่เข้ามาในพอร์ตโพลิโอ
ย้ำวิสัยทัศน์เป็นผู้นำ Telco-Tech
เขา กล่าวอีกว่า ในปี 2567 ทรู เดินหน้าผสานพลังโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมล้ำสมัยและระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร ผนวกอัจฉริยภาพเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำงานกับข้อมูล บนพื้นฐานของจริยธรรมและความโปร่งใสในความเป็นส่วนตัวของข้อมูล มุ่งสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยกลยุทธ์ 3 ด้านหลัก คือ 1) การยกระดับประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส ครอบคลุมทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพเครือข่าย การบริการลูกค้าที่สะดวกและไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ตลอดจนแพ็กเกจบริการและสิทธิพิเศษที่ออกแบบและคัดสรรเฉพาะเจาะจงตรงไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากขึ้น
2) ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเติมเต็มวิถีชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน สนับสนุนการใช้ชีวิตล้ำสมัยในยุคดิจิทัลทั้งทำงาน บันเทิง สุขภาพ และการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัย พร้อมร่วมทรานสฟอร์มองค์กรธุรกิจไทยให้อัจฉริยะยิ่งขึ้นในทุกอุตสาหกรรม และ 3) พลิกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทำกำไรในปี 2567 และในปี 2568 บริษัทจะมีผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิให้ได้ หลังจากที่ในปี 2566 อยู่ที่ 15,536.85 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 5,913.54 ล้านบาท
เดินหน้าเป็นองค์กร AI เต็มรูปแบบ
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า ทรูจะเดินหน้านำเทคโนโลยีใหม่ๆ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการและลดความซับซ้อนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมถึงสรรหาการผสานความร่วมมือ ตลอดจนทรานสฟอร์มองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล ทั้งยังสามารถส่งมอบคุณค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและประเทศไทย
โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อออกแบบบริการและนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจงตรงไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละบุคคลได้มากขึ้น โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก คาดการณ์ และวางแผนการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการขยายเครือข่ายและเพิ่มสัญญาณแบบเจาะลึกเฉพาะพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้บริการลูกค้าด้วยการมีปฏิสัมพันธ์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalize Services) สามารถให้บริการเชิงรุก ตลอดจนเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง
ส่งมอบบริการแบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง (Omnichannel) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า อาทิ การให้บริการลูกค้า โดยวางแผนนำเทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้ทีมงานบริการลูกค้าสามารถแนะนำบริการที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะยกระดับผู้ช่วยอัจฉริยะน้องมะลิ Mari AI โฉมใหม่ ที่พัฒนาขึ้นจากการผนวกเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ (Humanoid) เข้ากับเทคโนโลยี AI สามารถให้ข้อมูลและแนะนำบริการได้อย่างรวดเร็วแบบอัตโนมัติ