ยุคดิจิทัลเต็มตัว!บอร์ดกสทช.เห็นชอบเปลี่ยนสัมปทานวิทยุสู่ใบอนุญาต

ยุคดิจิทัลเต็มตัว!บอร์ดกสทช.เห็นชอบเปลี่ยนสัมปทานวิทยุสู่ใบอนุญาต

เห็นชอบร่างประกาศฯเปลี่ยนผ่านวิทยุทดลองออกอากาศสู่ระบบใบอนุญาตพร้อมนำ 3 ร่างประกาศฯ เปลี่ยนผ่านวิทยุทดลองออกอากาศที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 67 สู่ระบบใบอนุญาต พร้อมลงราชกิจจานุเบกษา และ ให้นำ 3 ร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็น หวังสร้างทางเลือกวิทยุอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า วันนี้ (10 เม.ย.2567) ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. (บอร์ดกสทช.) มีมติเห็นชอบ 3 ร่างประกาศด้านวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม (ระบบอนาล็อก) ที่ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว นำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม , ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ ร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบินร่างประกาศดังกล่าว เป็นแผนในการเปลี่ยนผ่านวิทยุเอฟเอ็มทดลองออกอากาศ ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2567 ไปสู่ระบบใบอนุญาตในปี 2568 

นอกจากนี้ ยังให้นำร่างประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล จำนวน 3 ฉบับไปรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล ,ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล 

สำหรับร่างประกาศนี้ เป็นทางเลือกเพื่อเปลี่ยนผ่านวิทยุกระจายเสียงระบบอนาล็อกทั้งรายเก่าและรายใหม่มีทางออกในการออกอากาศในระบบดิจิทัล 

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่ กสทช. ชุดที่แล้วมีมติให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน สาธารณะ และ ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันต้องพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อให้ผู้ทดลองออกอากาศดังกล่าวเข้าสู่ระบบการอนุญาตอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

โดยได้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อ 21 พ.ย. 2566 จากนั้นจึงได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้ 2,779 สถานี โดยปราศจากการรบกวน 

แต่หลังการรับฟังความคิดเห็นได้นำข้อคิดเห็นที่ดีและเหมาะสมโดยที่ไม่ผิดกฎหมายมาผ่อนคลายเงื่อนไข กล่าวคือ (1) การรบกวนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้องไปทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านภายหลัง (2) การรบกวนที่เกิดจากการใช้งานความถี่ข้างเคียง และ (3) การให้ย้ายที่ตั้งได้ภายในอำเภอนั้น ทำให้สามารถมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 3,346 สถานี จากเดิม 2,779 สถานี (เพิ่มขึ้น 567 สถานี) คงเหลือเฉพาะเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีที่ได้รับการอนุญาตแล้ว ซึ่งไม่สามารถผ่อนคลายได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย

โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดที่ต้องมีสัดส่วนการอนุญาตให้แก่สถานีวิทยุประเภทชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จึงได้กำหนดจำนวนคลื่นความถี่ให้วิทยุชุมชนและสาธารณะจำนวน 838 สถานี และวิทยุธุรกิจจำนวน 2,508 สถานี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะที่มีอยู่ปัจจุบันรวม 748 สถานี นั้น ตามแผนฉบับนี้ มีคลื่นความถี่รองรับได้ทั้งหมดและสามารถมีสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะเกิดใหม่ได้อีก 90 สถานี 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวิทยุธุรกิจที่คลื่นความถี่ไม่รองรับกับจำนวนสถานีปัจจุบันอีก 553 คลื่นความถี่ จึงได้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ (1) ต้องทำการทดลองทดสอบในภาคสนามจริงให้เป็นที่ปรากฎว่าไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีวิทยุที่ได้รับการอนุญาติแล้ว และ (2) ดำเนินการออกอากาศในระบบวิทยุดิจิทัล ที่จะเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบคู่ขนานในปีนี้

2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน คงเป็นไปตามที่เสนอ ซึ่งมีข้อคิดเห็นในรายละเอียดเล็กน้อยด้วยการปรับลดขั้นตอนการส่งรายงานทางด้านเทคนิค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยยังคงมีความเป็นมาตรฐานตามหลักสากล เช่นเดิม