ปรับตัวรับสังคมสูงวัย (จบ)

ปรับตัวรับสังคมสูงวัย (จบ)

การเรียนรู้และมองเห็นวิธีการปรับตัวอย่างละเอียดเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด

เกริ่นไว้ใน “Think out of The Box” 2 ตอนที่แล้วถึงการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และเรากำลังจะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยระดับยิ่งยวดซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศในอีก 7 ปีข้างหน้า

แต่ก่อนจะถึงวันนั้นเราก็พบว่าทุกวันนี้ผู้สูงอายุในบ้านเริ่มมีปัญหาหลงๆ ลืมๆ หาของไม่เจอจนบางครั้งต้องเกณฑ์ลูกหลานมาช่วยกันหาของกันวุ่นวายทั้งครอบครัว ซึ่งอาการแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ กับคนรุ่นปู่ย่าตายาย แต่บางครั้งพ่อแม่ในวัย 40-50 ปีก็เริ่มมีอาการดังกล่าวเช่นกัน

เพราะการสร้างความจำระยะยาวต้องอาศัยการทำซ้ำๆ บ่อยๆ เช่นการเก็บข้าวของต่างๆ ก็ต้องเก็บไว้ในที่ๆ สามารถมองเห็นได้จนเห็นประจำ จึงจะสามารถจำได้ว่าวางไว้ที่ไหน เมื่อถึงเวลาต้องใช้จึงหยิบได้อย่างแม่นยำ

กระบวนการทางสมองเช่นนี้อาจเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับคนหนุ่มสาว ที่ค่อยๆ เปลี่ยนความทรงจำระยะสั้น ให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว และกลายเป็นความรู้ที่จดจำไปใช้ได้ตลอดชีวิต 

เช่นเดียวกับในวัยเด็ก ที่เคยเห็นข้อสอบที่ต้องเติมคำในช่องว่าง แม้เราจะคิดคำตอบไม่ออก แต่เราจะพอนึกได้ว่าคำตอบนั้นอยู่ในหนังสือเล่มนั้น บทที่เท่านั้น ฯลฯ เมื่ออ่านบ่อยๆ เข้าก็สามารถจำได้อย่างขึ้นใจ

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ในวัยชราจะจำไม่ได้ว่าทานอะไรเป็นอาหารเช้า แต่จำได้ว่าสมัยยังเป็นเด็กเคยเล่นสนุกอะไรกับเพื่อน เพราะนั่นเป็นความทรงจำระยะยาวที่ไม่มีวันลืมเลือน ในขณะที่อาหารเช้านั้นเป็นเพียงความทรงจำระยะสั้นที่ถูกลืมได้ทันทีหากไม่มีการทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง

การแก้ปัญหาความทรงจำของผู้สูงวัยจึงต้องอาศัยการทำซ้ำๆ เพื่อเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว ไม่ต่างอะไรจากการอ่านหนังสือในวัยเด็กของเรา ที่อาจเคยอ่านหนังสือ 10 เที่ยวในระยะเวลาเพียงวันเดียวเพื่อไปสอบ

เพียงแต่กระบวนการสร้างความทรงจำให้กับผู้อาวุโสนั้นอาจต้องเปลี่ยนจากการอ่าน 10 เที่ยวใน 1 วันให้เป็นการอ่านวันละ 1 เที่ยวติดต่อกัน 10 วัน ซึ่งจะให้ผลดีกว่ากันมากเพราะเป็นการทำซ้ำๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม

นอกเหนือจากนั้นก็คือการจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการเก็บและการสร้างความทรงจำ ซึ่งลูกๆ และหลานๆ อาจช่วยคุณปู่คุณย่าได้ด้วยการรวมกลุ่มของที่ต้องใช้ด้วยกันให้อยู่ในที่เดียวกัน เช่นเก็บค้อนไว้ที่เดียวกับตะปู ไขควง

หรือจะเป็นเข็มและด้าย ก็เก็บในที่เดียวกันกับกระดุม และกรรไกรตัดหญ้า ก็อยู่ที่เดียวกับที่ตัดกิ่งไม้ ฯลฯ อย่าเก็บทุกอย่างกระจัดกระจาย แต่ให้เป็นของที่มีความเชื่อมโยงกัน และของประเภทเดียวกันก็ควรอยู่ด้วยกันเป็นหมวดหมู่เดียวกัน

ส่วนตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และคิดเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าใครๆ ก็อยากให้บ้านมีระบบระเบียบ ดังนั้นจึงต้องคิดหาวิธีเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยการทำซ้ำๆ เพื่อสร้างความทรงจำระยะยาวให้เกิดขึ้น

หรือการฝึกสร้างความทรงจำระยะยาวด้วยการสร้างระบบระเบียบในการเก็บข้าวของก็จะช่วยให้เราจำจดทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่หงุดหงิดเมื่อหาของไม่เจอเหมือนในอดีตซึ่งอาจทำให้ความดันสูง และกลายเป็นโรคหัวใจตามมา

ในขณะที่คนในวัย 40-50 ก็ต้องเข้าใจในความเป็นมาเป็นไปทั้งหมด เพราะอีกไม่กี่ปีตัวเองก็จะเข้าสู่สถานะของผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน การได้เรียนรู้และมองเห็นวิธีการปรับตัวอย่างละเอียดจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด