จากแอปแปลภาษาสู่ ‘ล่าม AI’ เมื่อโลกไร้พรมแดนทางภาษา
ผมยังจำความไม่น่าประทับใจตอนแอปแปลภาษาออกมาใหม่ๆ เมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะหลายครั้งแอปจะแปลด้วยภาษาแปลกๆ และสามารถจับได้ว่าไม่ใช่คนแปล ซึ่งในตอนนั้นอาจเก่งเฉพาะบางภาษา
ผมยังจำความไม่น่าประทับใจตอนแอปแปลภาษาออกมาใหม่ๆ เมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะหลายครั้งแอปจะแปลด้วยภาษาแปลกๆ และสามารถจับได้ว่าไม่ใช่คนแปล ซึ่งในตอนนั้นอาจเก่งเฉพาะบางภาษา
แต่สำหรับภาษาไทยในยุคแรกๆ หลายคนเมื่อทดลองใช้จะพบว่าคุณภาพของการแปลจะยังไม่ค่อยเนียนนัก แต่ก็นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีจะช่วยลดอุปสรรคทางภาษาลงไปได้อย่างมาก โดยเฉพาะกับภาษาที่เราไม่ได้คุ้นเคย
แอปพลิเคชันแปลภาษาตัวแรกๆ เปิดตัวในปี 2006 คือ Google Translate มีความสามารถพื้นฐานในการแปลข้อความระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาสเปน ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนภาษาและฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น แปลเสียงพูด แปลข้อความจากภาพ และแปลสดระหว่างสนทนา จนปัจจุบันสามารถแปลได้มากกว่า 100 ภาษาทั่วโลก
นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลายค่าย เช่น Microsoft Translator ที่เปิดตัวในปี 2010 โดยเน้นการใช้เอไอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแปล ปัจจุบันแปลได้ 70 กว่าภาษา นอกจากแอปแล้วยังมีบริการ API ที่เหมาะกับองค์กรที่ต้องการนำเทคโนโลยีแปลภาษาไปใช้ในธุรกิจ
ขณะที่ DeepL เป็นบริษัทของเยอรมันที่ใช้ Neural Networks เพื่อให้ผลลัพธ์การแปลเป็นธรรมชาติมากขึ้น แม้แปลได้ไม่กี่ภาษาแต่ก็ได้การกล่าวขานในเรื่องคุณภาพที่ดี
นอกจากแอปแปลข้อความแล้ว เทคโนโลยีการแปลเสียงก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น แอป Notta ที่ผสานการแปล การถอดเสียง และการสรุปเนื้อหา เข้าไว้ด้วยกัน หรือ iTranslate ที่แม่นยำในการแปลเสียงมากกว่า 100 ภาษา และมีฟีเจอร์แปลข้อความจากภาพด้วยกล้องที่ใช้งานง่าย
หรือแอปอย่าง Google Translate ก็มีจุดเด่นที่การแปลด้วยความเรียบง่าย และประมวลผลได้เร็ว ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง
แม้ประสบการณ์การใช้งานในช่วงแรกของผมอาจไม่ดีนัก แต่เมื่อต้องไปต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในช่วงหลังๆ ผมก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับประโยชน์ของแอปแปลภาษาอย่างเต็มตัวโดยเฉพาะ Google Translate กลายเป็นเพื่อนที่ช่วยให้สื่อสารได้ในทุกสถานการณ์
ไม่ว่าจะส่องกล้องมือถือแปลข้อความภาษาต่างๆ หรือแปลสดระหว่างสนทนากับชาวต่างชาติ ทุกครั้งที่เจอศัพท์แปลกๆ ผมก็หยิบมันขึ้นมาแปลทันที นี่ยังไม่นับฟีเจอร์ที่ช่วยแปลเสียงให้เป็นข้อความหรือข้อความเป็นเสียงได้ในหลายสิบภาษา ราวกับมีล่ามส่วนตัวอยู่ในกระเป๋า และเห็นพัฒนาการแปลภาษาของแอปเหล่านี้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดผมเองก็ต้องยอมรับในความสามารถของมัน
ยิ่งเมื่อเทคโนโลยี Generative AI ประเภท Large Language Model (LLM) อย่าง ChatGPT หรือ Gemini ออกมา ผมเริ่มเห็นความสามารถของการแปลภาษาที่ยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะนอกจากแปลภาษาแบบคำต่อคำได้ดีแล้ว ยังสามารถสรุปข้อความ หรือแปลบทความยาวๆ ได้หลายหน้า ซึ่งแอปแปลภาษาแบบเดิมๆ จะทำไม่ได้
แอปแปลภาษาทั่วไป เช่น Google Translate ใช้โมเดล Machine Learning ที่ถูกออกแบบและเทรนมาเพื่องานแปลภาษาโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพดีในการแปลข้อความทั่วไประหว่างคู่ภาษาหลักๆ ที่มีข้อมูลจำนวนมากในการเทรน แต่มักจะจำกัดอยู่ที่การแปลข้อความสั้นๆ ในโดเมนทั่วไป
โดยไม่สามารถรักษาบริบทในระดับย่อหน้าหรือถ่ายทอดสำนวนโวหารที่ซับซ้อนได้ อีกทั้งยังไม่สามารถแปลภาษาเฉพาะทาง วิชาการ หรือข้อความที่มีลักษณะพิเศษได้ดีนัก เนื่องจากถูกจำกัดด้วยข้อมูลที่ใช้ในการเทรน
ในทางกลับกัน LLM อย่าง ChatGPT นั้นถูกสร้างด้วยการเทรนบนฐานข้อมูลขนาดมหาศาลที่ครอบคลุมข้อมูลในหลากหลายภาษา หลายแขนง และหลายรูปแบบ พร้อมกับใช้สถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน ทำให้สามารถเรียนรู้ภาษาในเชิงลึกได้ดีกว่า สามารถสร้างเนื้อหาต่อเนื่องเป็นประโยคหรือย่อหน้า รักษาบริบทของข้อความยาวๆ ได้ดี
อีกทั้งยังสามารถแปลภาษาเฉพาะทางได้แม่นยำขึ้นด้วยการรับคำแนะนำจากผู้ใช้ (User Prompt) เช่น ระบุให้แปลตามบริบทของบทความการแพทย์ หรือระดับอายุของคนที่ต่างกัน LLM ยังสามารถรับคำสั่งที่ซับซ้อน เช่น ให้ถ่ายทอดอารมณ์ ลีลา หรือสำนวนโวหารแบบใดแบบหนึ่งในการแปลได้อีกด้วย
ประการสำคัญคือ LLM ยังมีความสามารถด้านการเข้าใจและสื่อสารในระดับที่ใกล้เคียงมนุษย์ เช่น สามารถอธิบายความเหมือนหรือความแตกต่างของคำหรือสำนวนระหว่างภาษาต้นทางและปลายทางได้ สามารถให้คำแนะนำเรื่องข้อควรระวังในการแปล เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรม คำสแลง ศัพท์เฉพาะกลุ่ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งผู้แปลมืออาชีพและผู้ใช้งานแปลทั่วไป
ล่าสุดเมื่อบริษัท Open AI และ Google ต่างเปิดตัว LLM เวอร์ชันล่าสุดของตัวเองที่นอกจากจะรับคำสั่งที่เป็นข้อความได้แล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเสียง และสามารถแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นเสียงพูดได้ ทำให้เราเห็นความสามารถในการสนทนาสด ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาได้
ดังนั้นในการมาประเทศจีนรอบนี้ผมจึงทดลองนำ ChatGPT มาเป็น "ล่ามอัจฉริยะ" ช่วยแปลการสนทนาตอนเดินทาง แทนที่การใช้ Google Translate ที่เคยใช้ประจำ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาน่าทึ่งมาก สามารถสนทนาได้รวดเร็วกว่า แต่ก็ยังติดอยู่ที่ว่าต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และข้อสำคัญต้องทำโรมมิ่งมาจากเมืองไทย เพราะที่จีนยังบล็อกการใช้แอปหรือเว็บของต่างประเทศบางราย
ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแปลภาษาที่ทำให้โลกไร้พรมแดนมากขึ้นทุกที นั่นคงไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอีกต่อไป เพราะยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น สำนวนซับซ้อน คำศัพท์เฉพาะทาง หรือการถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ ที่ AI ยังไม่อาจเข้าใจได้ลึกซึ้งเท่ามนุษย์
การเรียนภาษาในอนาคตคงไม่ใช่เรียนแบบพื้นๆ หรือทำเท่าที่แอปแปลภาษาหรือ LLMจะทำได้ แต่การเรียนภาษาอาจต้องเน้นที่ทักษะการแปลเชิงลึกมากขึ้น เช่น การแปลในบริบทเฉพาะทางอย่างกฎหมายหรือการแพทย์ หรือการผสมผสานองค์ความรู้ด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นทักษะเชิงลึกที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์
กระนั้นก็ตามเทคโนโลยีแปลภาษาก็เปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่ไขประตูสู่โลกใบใหม่ที่กว้างไกลกว่าที่เคย ทำให้เราเชื่อมต่อ แบ่งปัน เข้าใจกันและกันมากขึ้น และช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคทางการสื่อสาร และสำรวจโลกกว้างได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่าที่เคยมีมา