ดีอีนำร่อง 'สีคิ้ว สมาร์ท ลีฟวิ่ง' ยกระดับความปลอดภัย-บริหารข้อมูลเมือง
หนุนดีป้าเปิดตัว สีคิ้วสมาร์ท ลีฟวิ่ง ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว ครอบคลุมมิติด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน สังคมและท้องถิ่น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดโครงการ SIKHIO SMART LIVING โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน ในเทศบาลเมืองสีคิ้วการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหนึ่งในแผนพัฒนา Mega Program เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย ได้รับการบรรจุในเครื่องยนต์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายการดำเนินงานของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand เพื่อสร้างสังคมให้มีความน่าอยู่ ทันสมัย กระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค พัฒนาท้องถิ่นให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข พร้อมเร่งส่งเสริมการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี ดีป้า เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรระดับพื้นที่
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ปัจจุบัน เทศบาลเมืองสีคิ้ว แห่งนี้ได้รับการรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งโครงการ SIKHIO SMART LIVING คือโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน สังคมและท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมืองสีคิ้ว ครอบคลุมมิติด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP)
•ด้านความปลอดภัย ดำเนินการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้อง CCTV ทั้งหมดในอำเภอสีคิ้วใน 4 ฟังก์ชัน ประกอบด้วย การตรวจจับความเคลื่อนไหวผิดปกติในพื้นที่ที่กำหนด การตรวจจับการบุกรุกข้ามเส้นที่กำหนด การตรวจจับวัตถุที่ถูกวางทิ้งไว้หรือหายไปจากพื้นที่ที่กำหนด และการวิเคราะห์และประมวลผลภาพ ทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
• ด้านบริการภาครัฐ ส่งเสริมศักยภาพการให้บริการร้องเรียน ร้องทุกข์ผ่าน LINE OA อาทิ ถนน ทางเท้า ไฟส่องสว่างสาธารณะ ขยะสิ่งปฏิกูล เหตุรำคาญ การตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่สาธารณะ น้ำท่วม ฯลฯ เพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แม่นยำ และรวดเร็ว
• ด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง สร้างการเชื่อมโยง จัดเก็บ และนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่มาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
"กระทรวงดีอี โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีเมืองที่ผ่านการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 36 เมืองจาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ไม่น้อยกว่า 105 เมืองในปี 2567 – 2570 พร้อมประเมินว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว