AWS ดัน Generative AI พลิกโฉมแอปสำหรับองค์กรธุรกิจ

AWS ดัน Generative AI พลิกโฉมแอปสำหรับองค์กรธุรกิจ

“เอดับบลิวเอส” ประกาศเปิดตัวบริการใหม่เทคโนโลยี Generative AI ช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างแอปพลิเคชันได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที การันตีใช้งานง่าย เร็ว ปลอยภัย ไม่จำเป็นมีพื้นฐานการเขียนโค้ด - ทักษะด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์

นายดิลิป คุมาร์ รองประธานฝ่ายแอปพลิเคชันของ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส ในเครือ อะเมซอน กล่าวว่า เปิดตัว “AWS App Studio” ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่ใช้ Generative AI ในการสร้างแอปพลิเคชันระดับองค์กรด้วยการใช้ภาษาธรรมชาติ

โดยผู้ใช้สามารถอธิบายรายละเอียดแอปพลิเคชันที่ต้องการ ระบุฟังก์ชันการทำงานที่คาดหวัง และแหล่งข้อมูลที่จะเชื่อมต่อ ภายในเวลาไม่กี่นาที จากเดิมหากนักพัฒนาต้องสร้างจากเริ่มต้นด้วยตนเองอาจต้องใช้เวลาหลายวัน

ทั้งนี้ การปรับแต่งแอปพลิเคชันของ App Studio ทำได้ง่ายด้วยการคลิกและลากวาง (point-and-click) ทั้งผู้ใช้ยังสามารถขอคำแนะนำจากผู้ช่วยที่มีความสามารถจาก Generative AI ได้ทันที เพื่อให้แอปพลิเคชันทำงานตามผู้ที่พัฒนาต้องการ แม้ไม่มีพื้นฐานการเขียนโค้ดหรือทักษะด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ 

ดังนั้นผู้ใช้งานทั่วไปในองค์กร เช่น ผู้จัดการโครงการ วิศวกรข้อมูล ก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยมีเอดับบลิวเอส เป็นผู้ดูแลด้านความปลอดภัย การจัดการดูแลแอปพลิเคชัน และการดำเนินการต่างๆ ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการเหล่านั้น

ผู้ใช้จึงสามารถโฟกัสไปที่การออกแบบและสร้างแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ต้องกังวลกับรายละเอียดด้านเทคนิคของแอปพลิเคชัน

“เราหวังเปิดโอกาสให้ผู้สร้างรุ่นใหม่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันระดับองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที เนื่องจากได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายใหญ่และสตาร์ตอัปที่เติบโตเร็วที่สุด บริการใหม่นี้เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่พนักงานด้านเทคนิคในทุกองค์กร แม้แต่ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่ต้องการได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน”

ที่ผ่านมา การพัฒนาแอปพลิเคชันตามความต้องการเฉพาะนั้นต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก จึงทำให้มีแอปพลิเคชันภายในองค์กรจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา เนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าว พนักงานที่มีความรู้ด้านเทคนิคจึงหันมาใช้เครื่องมือสร้างแอปพลิเคชันแบบโค้ดน้อย (Low-code) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันตามความต้องการด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดและข้อท้าทายหลายประการ ได้แก่ มีความยากในการเรียนรู้และต้องใช้ความรู้เฉพาะของแพลตฟอร์ม 

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นมักไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท จนทำให้แผนกไอทีต้องระงับการใช้งาน เมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้น แอปพลิเคชันเหล่านี้ก็มักประสบปัญหาในการรองรับปริมาณการใช้งานมากๆ จนต้องส่งมอบการโฮสต์และการรันให้กับทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทดำเนินการแทน ส่งผลให้พนักงานจำนวนมากประสบปัญหา 

โดยต้องเลือกระหว่างการใช้เครื่องมือสร้างแอปพลิเคชันแบบโค้ดน้อยที่มีข้อจำกัด หรือจัดการกระบวนการต่างๆ อย่างยากลำบากผ่านสเปรดชีตและเอกสารในรูปแบบเดิม