ประมูล 'ดาวเทียม' ล่มแล้ว กสทช. อุบเงียบทำไทยเสียวงโคจร
กสทช.อุบข่าวเงียบ หลังไร้เอกชนยื่นซองประมูลวงโคจรดาวเทียม 2 ตำแหน่งที่ขายไม่ออก 50.5 และ 142 องศาตะวันออก ทำไทยเสียสมบัติชาติในอวกาศเป็นที่เรียบร้อย ด้าน รมว.ดีอี เผยยังไม่ได้รับรายงาน เพราะกสทช.ต้องชี้แจงต่อสภาฯ ตามความรับผิดชอบที่เป็นคนออกใบอนุญาต
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดกรอบเวลา ในการจัดการประมูลการใช้สิทธิโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 142 องศาตะวันออก ในลักษณะจัดชุด (แพคเก็จ) ผลสรุปหลังเปิดให้เอกชนที่สนเข้าร่วมยื่นซองประมูลปรากฏว่า ไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วม ทำให้การประมูลต้องล่มในที่สุด
ทั้งนี้ ตำแหน่งวงโคจร 2 แพคเก็จดังกล่าวคือสล็อตที่เหลือมาจากการเปิดประมูลรอบแรกเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 จาก 5 วงโคจร มีผู้ประมูลไป 3 วงโคจร ทำให้ต้องนำมาจัดประมูลใหม่ดังกล่าว
สำหรับ ไทม์ไลน์การประมูลดาวเทียม ได้วางกรอบการจัดประมูลไว้ดังนี้ คือ
วันที่ 4-25 มิ.ย. 2567 เปิดให้มีการรับเอกสารการคัดเลือก
วันที่ 26 มิ.ย. 2567 ประชุมเพื่อชี้แจงกระบวนการคัดเลือก และการออกแบบคำขอรับอนุญาต
วันที่ 23 ก.ค. 2567เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเอกสาร และหลักฐานการขอใบอนุญาต และชำระค่าพิจารณาคำขอ วางหลักประกันการขอรับใบอนุญาต
วันที่ 13 ส.ค. 2567 จะทำการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ
วันที่ 21 ส.ค. 2567 จะนัดเอกชนที่เข้าร่วมประมูลประชุมเพื่อชี้แจง กระบวนการประมูล กฎหมายประมูล และการประมูลรอบสาธิต
วันที่ 24 ส.ค. 2567 จัดให้มีการประมูล
วันที่ 31 ส.ค. 2567 ภายหลัง 7 วัน จากการประมูล ทางกสทช. จะทำการรับรองผลการประมูล
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า จากการเปิดให้รับเอกสาร มีเอกชน 2 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ. ไทยคม และ บริษัท พร้อม เทคนิคอล จำกัด เข้ารับเอกสารรายละเอียดในการประมูล
แต่เมื่อมาถึง 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเอกสาร และหลักฐานการขอใบอนุญาต กลับไม่มีเอกชนรายใดยื่นเอกสาร เข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด ทำให้การประมูลไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้ว เมื่อทางสำนักงาน กสทช.สามารถจัดการประมูลในสองวงโคจรนี้ได้ ก็ต้องส่งสิทธิการใช้งานคืนกลับให้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)
ไม่มีศักยภาพทำตลาด = ภาระ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้ การแก้ไขปรับปรุง และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อาทิ ได้มีการปรับลดราคา จากเดิม ราคา 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท ในตำแหน่ง 50.5 และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท และปรับเงื่อนไขการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลา ในการดำเนินการ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะพื้นที่ให้บริการ ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ
แหล่งข่าวจากกสทช. กล่าวเพียงสั้นๆว่า รัศมีของวงโคจร ความครอบคลุมของ 2 ตำแหน่งนี้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำตลาดได้ มี footprint ไปที่ประเทศอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกากลาง ซึ่งทับซ้อนกับวงโคจรที่เปิดประมูลไปก่อนหน้านี้แล้ว
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี การรักษาสิทธิ์ในวงโคจรของกระทรวงดีอี แต่เมื่อสำนักงานกสทช. กำหนดให้มีการออกใบอนุญาตให้กับเอกชนก็เป็นสิทธิ์ของกสทช.ที่จะต้องรักษาวงโคจรเพราะก็ถือเป็นสมบัติของชาติแต่ในประเด็นที่ไทยอาจจะเสียวงโคจรในสองตำแหน่งดังกล่าว
ขณะนี้ตัวแทนของบอร์ดกสทช.หรือสำนักงาน กสทช. ก็ยังไม่ได้มาชี้แจงกับกระทรวงซึ่งก็เข้าใจว่าสิ่งที่กสทช. ต้องต้องทำคือการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านมาถึงวันนี้เกือบ 1 สัปดาห์แล้ว เมื่อไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูล แต่ทางบอร์ดกสทช.ที่ดำเนินการเรื่องนี้ กลับไม่มีการชี้แจงหรือรายงานความคืบหน้าในการประมูลดาวเทียมแต่อย่างใดจากกสทช. และในวันนี้ที่การประมูลน่าจะล้มเหลวเป็นที่แน่นอนแล้ว ก็ยังไม่มีเอกสารข่าวหรือการชี้แจงใดๆ จึงน่าแปลกใจว่ากสทช.ตั้งใจหรือจงใจปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเงียบไปเองหรือไม่