เปิดราคา 'ยูโซ่เน็ต' 4,000 ล้าน ส่อแพงเกินจริง ตั้งคำถามควรเป็นอำนาจ 'ดีอี'

เปิดราคา 'ยูโซ่เน็ต' 4,000 ล้าน ส่อแพงเกินจริง ตั้งคำถามควรเป็นอำนาจ 'ดีอี'

แม้ว่ามติบอร์ดกสทช.ล่าสุดได้เห็นชอบในหลักการโครงการ ยูโซ่เน็ต รพ.สต.กรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาทแล้ว แต่กสทช.ก็ยังมีข้อกังขารายละเอียดโครงการ เหตุใดไม่ตรงกับโครงการเดียวกันที่ทำมาแล้ว แถมราคาสูงเกินจริง

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ดกสทช. ครั้งที่ 16/2567 เมื่อวัน 31 ก.ค. 2567 ที่มีการถ่ายทอดการออกอากาศ โครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถเข้าบริการโทรคมนาคมได้เป็นหลัก ภายใต้กรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยบอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการดังกล่าวเท่านั้น 

แต่เมื่อลงลึกถึงรายละเอียดของโครงการ กสทช.ยังไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากมีบอร์ดกสทช.บางท่าน รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นข้อมูลโครงการที่กสทช.เสนอ เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุขเคยทำ ไม่สอดคล้องกัน ทั้งๆที่จำนวนรพ.สต.กว่า 5,000 แห่ง แทบจะเป็นโครงการเดียวกัน แต่กสทช.เสนองบประมาณแพงกว่า บอร์ดกสทช.จึงอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะดำเนินการเอง หรือ ให้ สดช.ดำเนินการ เปิดราคา \'ยูโซ่เน็ต\' 4,000 ล้าน ส่อแพงเกินจริง ตั้งคำถามควรเป็นอำนาจ \'ดีอี\'

แหล่งข่าวระบุว่า สิ่งที่สำนักงาน กสทช. โดยความเห็นชอบของประธาน กสทช. ได้เสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณา นั้นเป็นการเสนอให้ รพ.สต. จำนวน 5,237 แห่ง ที่ชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากสธ.แล้วว่าเป็น รพ.สต.ที่ยังไม่ได้โอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามอุปกรณ์ที่เสนอ ได้แก่

ประเภท 1 คือ มีสิ่งก่อสร้าง USO Mobility พร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต

ประเภท 2 คือ มีค่าเช่าอินเทอร์เน็ต อย่างเดียว

ประเภท 3 คือ มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเป็น 3 ประเภท ตามความพร้อมของพื้นที่ที่ให้บริการ ประกอบด้วย

ประเภท ก. คือ มีไฟฟ้า และมีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) เข้าถึงแล้ว  

ประเภท ข. คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอ และมีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) เข้าถึงแล้ว 

ประเภท ค. คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอ และไม่มีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) ต้องใช้สัญญาณดาวเทียม เปิดราคา \'ยูโซ่เน็ต\' 4,000 ล้าน ส่อแพงเกินจริง ตั้งคำถามควรเป็นอำนาจ \'ดีอี\'

โดยมีประมาณการงบประมาณต่อ รพ.สต. 1 แห่ง ตามประเภทที่สำนักงานเสนอ เช่น 

สูงสุด คือ ประเภท 1 ค (มีทุกอย่างโดยต้องเช่าดาวเทียม) งป. ต่อ 1 รพ.สต. 8,700,000 บาท  

ต่ำสุด คือ ประเภท 2 ก (ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต อย่างเดียว) งป. ต่อ 1 รพ.สต. 360,000 บาท 

ปานกลาง คือ ประเภท 3 ก (มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และค่าเช่าอินเทอร์เน็ต) งป. ต่อ 1 รพ.สต. 1,330,000 บาท 

แต่ภายหลังจากที่ กรรมการ กสทช. ได้มีการตรวจสอบพบว่าข้อมูล รพ.สต. ที่สำนักงาน กสทช. เสนอ จำนวน 5,237 แห่ง นั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูล รพ.สต. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เคยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาแล้วในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,246 แห่ง 

และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือยกเลิกการเช่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก NT ทั้งหมดหลังสิ้นสุดสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยมีเหตุผลเนื่องจากมีนโยบายให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคดำเนินการเช่าอินเทอร์เน็ตเอง โดย รพ.สต. ดังกล่าวจะต้องถูกโอนย้ายไปสู่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละจังหวัด 

และที่ผ่านมาได้ก็ได้มีการทยอยยกเลิกทุกปี เช่น ปี งบประมาณ 2566 โอนไป อปท. 3,263 แห่ง ปี งบประมาณ 2567 โอนไป อปท. 931 แห่ง และ ปี 2568 โอนไป อปท. 256 แห่ง เป็นต้น  

ที่สำคัญยังพบว่า มีหลายพื้นที่ ที่สำนักงาน กสทช. แจ้งในโครงการที่เสนอนี้ว่าต้องให้บริการ รพ.สต. ประเภท 1 ค คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอและไม่มีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) ดังนั้นจึงต้องใช้สัญญาณดาวเทียม ที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงถึง 8,700,000. บาท เช่นที่ รพ.สต. ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน หรือ รพ.สต.บ้านบางไทรนนท์ ต.บ้านใหม่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หรือ ที่ รพ.สต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นต้น 

ทั้งๆ ที่ รพ.สต. เหล่านี้ทางบริษัท NT ได้เคยให้บริการแก่สธ.มาแล้ว และใช้สื่อสัญญาณทางสายปกติ 

รวมทั้งเมื่อตรวจสอบสัญญาที่ NT ได้ให้บริการแก่ รพ.สต. ที่ผ่านมา นั้น พบว่า คิดค่าบริการอยู่ในอัตรา 518 บาท/เดือน ในปี 2566 และในปี 2567 ค่าบริการที่ 490 บาท/เดือน ประกอบด้วยค่าบริการ Internet Fiber ความเร็ว 600/600 Mbps พร้อมอุปกรณ์ IP TV รวมทั้งมีการจัดอบรม Cyber Security และจัดเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ 5 วัน/8 ชั่วโมง 

ขณะที่ สำนักงาน กสทช. เสนอราคาค่าเช่าอินเทอร์เน็ตที่ 2,100 บาท/เดือน แต่กลับได้ความเร็ว 500/100 Mbps ที่น้อยกว่า 

และหากเป็นการให้บริการค่าเช่าอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวตามประเภท 2 ก ในระยะเวลา 5 ปี จะมีมูลค่าสูงถึง 360,000 บาท/1 รพ.สต. ในขณะที่ NT ได้เคยให้บริการดังกล่าวที่ผ่านมาในอัตรา 518 บาท/เดือน หากคิด 5 ปี จะมีมูลค่าเพียง 31,080 บาท ซึ่งต่ำกว่าที่สำนักงาน กสทช.เสนอกว่า 10 เท่า     

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมสำนักงาน กสทช. ไม่ตรวจสอบข้อมูล รพ.สต. ที่เสนอมาให้รอบคอบ แต่จะมาเร่งรัดให้ บอร์ดกสทช. อนุมัติ ทั้งที่ข้อมูลที่นำเสนอดังกล่าว ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเคยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น 

ดังนั้นจึงต้องการให้สำนักงาน กสทช. ทำข้อมูลวิเคราะห์และประเมินความต้องการที่แท้จริง และมุ่งเน้นจัดทำไปยังพื้นที่ที่โครงข่ายโทรคมนาคมยังไปไม่ถึงมากกว่าที่จะมาทำในสิ่งที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถให้บริการอยู่แล้วและเท่าที่เปรียบเทียบในเบื้องต้น ได้ให้บริการที่ถูกและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่สำนักงาน กสทช.เสนอด้วยซ้ำ