'ดีอี' ฉีดยาแรงผนึก 10 พันธมิตร ป้องกันประชาชนจากภัยไซเบอร์
รมว.ดีอีเอ็มโอยูจับมือ 10 หน่วยงานพันธมิตร คิกออฟ “Digital Vaccine” จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย ห่างไกล “โจรออนไลน์”
วันนี้ (9 ส.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เป็นประธานในพิธี บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ “Digital Vaccine” ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยออนไลน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการหลอกลวงซื้อขายสินค้า การหลอกลวงโอนเงิน การหลอกลวงให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่างๆ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐต่างๆ หรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ แล้วหลอกให้กดลิงก์ หรือดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันขโมยเงิน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงปัญหาบัญชีม้า การเปิดบัญชีเงินฝาก การลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์แล้วให้คนอื่นนำไปใช้ โดยบัญชีม้า เป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้รับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อปกปิดหรือหลบเลี่ยงไม่ให้การสืบสวนไปถึงตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงได้
นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ล่าสุดยังพบการสร้างแพลตฟอร์มปลอมในรูปแบบต่างๆในช่องทางสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชน ทำให้สูญเสียทรัพย์และข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ การก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในภูมิภาค ซึ่งถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ดังนั้น ทั้ง 11 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
4) กรมประชาสัมพันธ์
5) ธนาคารแห่งประเทศไทย
6) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
10) สมาคมธนาคารไทย
11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
จึงเห็นร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องร่วมกันดำเนินการจัดทำโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อร่วมบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงานนำมาจัดทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมด เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบภัยออนไลน์ วิธีป้องกัน และแนวทางรับมือที่ถูกต้อง เพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ลดความเสี่ยง ลดโอกาสที่ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลของประเทศ
“กระทรวง ดีอี พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้เร่งปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรุกสร้างความรู้ โดยการบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกัน ผ่านโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านภัยออนไลน์ให้กับประชาชน สามารถใช้ป้องกันตัวและคนในครอบครัวจากโจไซเบอร์ ช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมวงกว้าง” นายประเสริฐ กล่าว