‘แกร็บ-เอไอเอส’ เผยแผนรับมือ Climate Change ‘ธุรกิจโต-โลกยั่งยืน’

‘แกร็บ-เอไอเอส’ เผยแผนรับมือ Climate Change ‘ธุรกิจโต-โลกยั่งยืน’

เปิดมุมมอง ‘แกร็บ-เอไอเอส’ เทคยักษ์ใหญ่กับกลยุทธ์สร้างธุรกิจมุ่งสู่ Net Zero ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024: The Extraodinary Green

ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024: The Extraodinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ บริษัทเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของไทยอย่าง “แกร็บ-เอไอเอส” ได้แสดงทัศนะในฐานะที่ตนเองเป็นบริษัทเทคฯ องค์กรมีแนวคิดและการจัดการธุรกิจให้ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร กรุงเทพธุรกิจสรุปไว้ดังนี้

‘แกร็บ-เอไอเอส’ เผยแผนรับมือ Climate Change ‘ธุรกิจโต-โลกยั่งยืน’

แกร็บเผยกลยุทธ์ 3R ตั้งเป้าใช้ EV ลดมลพิษ

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บ (Grab) เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหาร ส่งสินค้า และเรียกรถโดยสาร ปัจจุบันมีตลาดอยู่ 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และ กัมพูชา โดยไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ตลาดหนึ่งของแกร็บ

“ในแต่ละวัน แกร็บทราบดีว่ามีไรเดอร์วิ่งคอยรับส่งอาหาร สินค้า และผู้โดยสารเยอะมาก นั่นแปลว่า การปล่อยคาร์บอนก็เยอะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารก็ยังสร้างขยะพลาสติกที่เยอะมาก ดังนั้น สิ่งที่แกร็บทำคือ ไม่ได้มองแค่ผลกำไร แต่มองถึงระบบนิเวศน์ ด้วยการนำเอา ESG มาอยู่ในแผนธุรกิจ 3P (Triple Bottom Line) ได้แก่ ผลประกอบการ (Performance), โลก (Planet), ผู้คน (People) ของบริษัท”

โดยสิ่งที่แกร็บเน้นในเวทีเสวนาคือ Planet เป็นแผนสร้างอีโคซิสเต็มให้ยั่งยืน โดยเป็นแผนที่ใช้ทั้ง 8 ประเทศ มีเป้าหมายเดียวกันว่า “ต้องเดินทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040”

ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แผน ได้แก่ 1) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำ 2) การใช้พลังงานหมุนเวียน 3) การใช้แนวปฏิบัติทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน และ 4) โปรแกรมการหลีกเลี่ยงและกำจัดคาร์บอน

“ขณะเดียวกัน ภายใน 2026 นี้ แกร็บอยากเห็น การสนับสนุน (Reinforce) ในที่นี้คือ การทำให้ยานพาหนะของไรเดอร์นั้นเป็นแบบไฟฟ้า (EV) มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ เช่น บริษัทผลิตรถอีวี เป็นต้น 

อย่างที่สอง การปรับและออกแบบใหม่ (Redisign) ให้โมเดลธุรกิจของแกร็บนั้นปล่อยมลพิษน้อยลงหรือสามารถลดขยะลงได้ และสาม หากยังลดมลพิษไม่ได้มากพอก็ต้องปลูกป่า (Reforest) ทดแทน” 

คุณวรฉัตร ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า การบอกให้ไรเดอร์หันมาใช้รถอีวีนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะไรเดอร์บางคนก็หาเลี้ยงครอบครัว โดยใช้รถที่เป็นต้นทุนเดิม ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างหนึ่งของแกร็บคือ การสื่อสารให้ไรเดอร์เข้าใจว่า หากเปลี่ยนมาใช้รถอีวี จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างไรได้บ้าง 

“ปี 2026 นี้ แกร็บยังตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้รถของแกร็บในระบบที่มีอยู่หลายแสนคันนั้นเป็นรถอีวี 10% โดยแกร็บมีแผนสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น หากไรเดอร์มีแผนจะซื้อรถคันใหม่ หรือเปลี่ยนจากการขับแท็กซี่มาเป็น Grab Car Premium ที่มีรายได้สูงขึ้นไปอีก แกร็บก็จะช่วยเรื่องไฟแนนซ์ ในโปรแกรม Drive-to-Own ขับรถไป ผ่อนไป ผ่อนจบก็เป็นเจ้าของรถ” 

สำหรับโปรแกรม Drive-to-Own ทำความร่วมมือกับ Moove ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อยานยนต์ และ Rever Automotive ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD เปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์คนขับสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้โดยไม่ต้องใช้ประวัติทางการเงิน แต่จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการกับแกร็บ

โดยความพิเศษของโปรแกรมสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 72 เดือนนี้คือ พาร์ทเนอร์คนขับไม่ต้องวางเงินดาวน์ และสามารถผ่อนจ่ายได้แบบรายวันผ่านการหักรายได้จากการให้บริการในแต่ละวัน

“ต่อไปเป็นเรื่องของ Redisign การปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เราเห็นได้ว่าจะมีไรเดอร์ออกมาตั้งคำถามว่าทำไมแกร็บต้องให้ไรเดอร์รับงานพ่วง การให้งานพ่วงของแกร็บนั้นมีจุดประสงค์คือ หากไปทางเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน หรือตรอกซอยใกล้กัน การใช้ไรเดอร์ถึง 2 คันนั้นทำให้เกิดคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น แกร็บจึงคิดว่าหากสินค้ามาจากห้างร้านเดียวกัน ไปส่งหมู่บ้านเดียวกันการใช้รถคันเดียวกัน ไรเดอร์คนเดียวจะทำให้ลดคาร์บอนที่มันดับเบิ้ลได้

และสุดท้ายคือ Reforest การปลูกป่า โดยในแอปพลิเคชันของแกร็บจะมีปุ่มให้ลูกค้าเลือกที่จะบริจาค 1-2 บาท เพื่อนำเงินตรงนี้ไปปลูกป่า เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมลดคาร์บอน หากแต่ในฐานะที่แกร็บเป็นบริษัทเทคโนโลยี การปลูกป่าและถ่ายรูปกลับมาเฉยๆ นั้นคงเป็นอะไรที่ธรรมดา

แกร็บจึงได้ทำความร่วมมือกับ EcoMatcher เพื่อออกแบบแอปพลิเคชัน TreeCorder สามารถบอกได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกทุกต้นนั้นอยู่ในส่วนไหนบ้าง และยังเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านที่เคยรุกรานป่า เพื่อหาวัตถุดิบมาขายเลี้ยงชีพ ให้พวกเขาดูแลป่าและต้นไม้ที่แกร็บได้นำไปปลูกแทน โดยแกร็บจะให้เงินรายเดือนแก่พวกเขา นี่คือสิ่งที่แกร็บได้ทำทั้งหมดในปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนต่อโลกได้” 

‘แกร็บ-เอไอเอส’ เผยแผนรับมือ Climate Change ‘ธุรกิจโต-โลกยั่งยืน’

เอไอเอสกับโซลูชันความยั่งยืน

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าหน่วยธุรกิจขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอส (AIS) เป็นบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายดิจิทัลไลฟ์แก่คนไทยมาอย่างยาวนาน ขณะนี้มีสัญญาน 5G ของ AIS คลอบคลุมพื้นที่ชุมชนในประเทศไทยทั้งหมด 95% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานในบริษัททุกคน 

“AIS ประกวดนวัตกรรมในเวทีไหนก็ได้รับรางวัล แต่จะมีประโยชน์อะไรหากคนไทยที่เป็นลูกค้าเป็นเหมือนเพื่อนของเราต้องย้ายถิ่นฐานในปี 2025 เพราะโลกที่ร้อนขึ้น ประเด็นนี้จัดเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

ดังนั้น AIS จึงผลักดันองค์กรสู่ Cognitive Tech-Co โดยจะสร้างคุณค่าให้แก่พาร์ทเนอร์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะ ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และมีกระบวนการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน กล่าวคือ ต้องทำให้รายได้บริษัทเพิ่มขึ้น ลดการใช้ต้นทุนลง และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม” 

คุณอราคิน ได้ยกตัวอย่างหนึ่งในแผนงานที่ AIS ทำ ด้านการใช้เอไอ เพราะการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้นั้นถือเป็นการปล่อยคาร์บอนเช่นเดียวกัน โดยเอไอของ AIS มีการเฝ้าระวังสถานีฐาน 60% ในจุดต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่รับส่งสัญญาณกับเครื่องโทรศัพท์เพื่อถ่ายทอดไปยังชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 

“หากเมื่อไรที่สถานีฐานมีอุณหภูมิไม่สูงมาก แปลว่ามีคนใช้งานน้อย บริษัทก็จะลดแอร์ลง จากนั้นก็ดับเครื่องของสถานีฐานลงบางส่วน โดยไม่มีผลกระทบกับเครือข่ายมือถือ ยังคงใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างปกติ ผลจากงานทำงานนี้ บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ 125 ล้านบาท แต่เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างน้อย แต่ก็สามารถเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ” 

นอกจากนี้แล้ว ในเรื่องของการแยกขยะถือเป็นกระบวนการที่ช่วยลดประเภทขยะมูลฝอย โดยเฉพาะ E-Waste (ขยะอิเล็กทรอนิกส์) หากขาดความเข้าใจ กำจัดไม่ถูกวิธี เช่น การนำไปเผาก็อาจทำให้เกิดอันตรายและเกิดมลพิษทางอากาศได้ 

AIS ได้จัดทำศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา โดยตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าสู่โรงงานเพื่อแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ ตามประเภท และดำเนินการรีไซเคิล เช่น ทองคำ อะลูมิเนียม เงิน ทองแดง และแพลเลเดียม เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แล้วใช้เพื่อสร้างสิ่งของใหม่ๆ ต่อไป โดยขณะนี้ AIS ได้เก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 1 ล้านชิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ขณะนี้ผมเชื่อว่าหลายคนคงเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่ธุรกิจตนเองก็จะไม่ไหวแล้ว และยังต้องไปคำนึงถึง Sustainability มันเหมือนกับการขับรถไปด้วย และก็จะพยายามเปลี่ยนล้อรถไปด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ AIS ทำคือ การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรม โดยเพิ่มเรื่องราวของ Green เข้ามาในโปรแกรมกลายเป็นว่าได้สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม Green Network ทุกครั้งที่มีโอกาสออกไปจัดอีเวนท์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นการปลูกฝังให้คนที่เข้ามาในงานได้ตระหนักรู้และ​นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต”