'Whoscall' ชี้  1 ใน 4 ของคนไทย ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

'Whoscall' ชี้  1 ใน 4 ของคนไทย ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

Whoscall เปิดตัวเลขการหลอกลวงจากมิจฉาชีพในไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 เผยถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อคนไทย

KEY

POINTS

  • ตัวเลขโชว์ว่า กว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • 5 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวง ได้แก่ เฟซบุ๊ค ตามด้วย ไลน์ แมสเซ็นเจอร์ ติ๊กต็อก และจีเมล์
  • มีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอป ฮูส์คอลล์ (Whoscall) ผนึกองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser เปิดตัวเลขการหลอกลวงจากมิจฉาชีพในไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 เผยถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อคนไทย ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา

ตัวเลขโชว์ว่า กว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 58% รับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดย 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง กว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก

มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106 ดอลลาร์ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคน การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกลวงที่ใช้เทคโนโลยี เอไอ เป็นรูปแบบกลโกงที่ถูกพบมากที่สุด

"แมนวู จู" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามป้องกัน ภัยมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาจากการ หลอกลวง และความพยายามในการหลอกกลวงจากมิจฉาชีพ 

รายงานที่เราได้จัดทำ ร่วมกับ GASA และ Scam Adviser ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงระดับความถี่ของการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึง ข้อมูลเชิงลึกกลลวงใหม่ๆ จากมิจฉาชีพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอก จากมิจฉาชีพเฉลี่ยสูงถึง 1,106 ดอลลาร์ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

หลอกลวงเกิดถี่ความเสียหายเพิ่ม

รายงานระบุว่า คนไทยมีความระมัดระวังป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพมากขึ้นโดย 55% มั่นใจว่ารู้ทันกลลวง มิจฉาชีพด้วยการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ 44% และใช้แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบความถูก ต้องของข้อมูลที่ได้รับ 37% 

อย่างไรก็ตาม 89% เผยว่ายังต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 58% ระบุว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้น โดยเกือบ 10% ระบุว่าถูกก่อกวนจากมิจฉาชีพถี่ขึ้นต่อเดือน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 35% ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงหลายครั้งต่อสัปดาห์

รายงานพบว่า การโทรเข้าและส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นวิธีการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ตามด้วย โฆษณาออนไลน์ การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับส่งข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย

โดย 5 ช่องทางที่ มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวง ได้แก่ เฟซบุ๊ค 50% ตามด้วย ไลน์ 43%, แมสเซ็นเจอร์ 39%, ติ๊กต็อก 25% และ จีเมล์ 20%

ทั้งนี้การได้รับคืนเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไปนั้นทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีผ่านมา ผลสำรวจจพบว่า กว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ โดยมีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ และ 73% ระบุว่าได้รับ ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก

ใช้ AI หลอกลวงกำลังแพร่ระบาด

การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Thef) และการใช้เทคโนโลยี เอไอ เป็นรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้มากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ผลสำรวจระบุว่าการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลโดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลอก ให้เหยื่อโอนเงิน เป็นกลลวงที่พบมากที่สุดถึง 22% แซงหน้าการหลอกลวงให้ซื้อสินค้า (shopping scams) 19% ตามมาด้วยการออกใบแจ้งหนี้ปลอม หรือการหลอกให้ชำระหนี้16% และการหลอกให้ลงทุน14% ตามลำดับ

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าคนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาเป็นเทคนิคใหม่ในการ เขียนข้อความสร้างบทสนทนาเลียนแบบเสียง รวมถึงสร้างภาพของบุคคลหรือสถานการณ์หลอกลวงในรูปแบบ ต่างๆ โดย 66 % ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าเคยได้รับข้อความที่เขียนโดยใช้เทคโนโลยี AI

จอริจ อับบราฮัม ผู้จัดการทั่วไปGlobal Anti-Scam Alliance (GASA) กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน เพิ่มการดำเนินการที่เข้มงวดและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยจาก มิจฉาชีพ จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหายทำให้เรา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องประชาชนและฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล”

เพื่อรับมือภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่เพิ่มขึ้นบริษัทโกโกลุก ประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการออกมาตรการในระยะยาว เพื่อป้องกันกลลวงในรูปแบบที่เน้นจัดการความเสี่ยงและเสริมสร้างความระมัดระวัง ให้ประชาชนจากการให้ความรู้

"ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเครื่องมือ ที่ทันสมัยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ของบริษัท ในการร่วมต่อต้านการหลอกลวงทุกรูปแบบ เราได้ผสานเทคโนโลยี เอไอ เพื่อพัฒนาฟีเจอร์ ใหม่บนแอป ทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องผู้ใช้งานทุกคน" แมนวู กล่าวปิดท้าย

สำหรับรายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม the second GASA Global Anti-Scam Summit - Asia (GASS) ซึ่งเป็นการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อต่อต้านการหลอกลวงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก GASA ผู้แทนจากองคกร์ระดับโลกอย่าง อะเมซอน ,กูเกิล , โกโกลุก , มาสเตอร์การ์ด และ เมตา รวมถึงเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สถาบันการเงิน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยน ความรู้ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และพัฒนากลยุทธ์เพื่อปกป้องผู้คนจากการหลอกลวง