สดช. เวิร์กช้อปรับโจทย์หินด้าน 'ดิจิทัล' ปักหมุดไทยไต่อันดับ 3 ของอาเซียน

สดช. เวิร์กช้อปรับโจทย์หินด้าน 'ดิจิทัล' ปักหมุดไทยไต่อันดับ 3 ของอาเซียน

สดช.เร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาจาก 'บอร์ดดีอี' เน้นอัพสกิลคนหวังสนับสนุนทุนครอบคลุมทุกมิติปี‘ 68 ชูสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล ของประชาชนคนไทย ในปี พ.ศ. 2570 มีคะแนนมากกว่า 80%

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และพัฒนาต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หลังจากที่ได้มีการประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และได้ดำเนินการลงนามในสัญญารับทุนเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 19 โครงการ ภายใต้กรอบนโยบาย 4 ด้าน ประกอบด้วย

  • Digital Manpower การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล
  • Digital Agriculture เกษตรดิจิทัล
  • Digital Technology การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล
  • Digital Government การส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล

หวังขยับอันดับสถานะดิจิทัลไทย

โดยโครงการทั้ง 19 โครงการนี้ เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่จะเป็นส่วนช่วยเร่งรัดการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านเป้าหมายต่าง ๆ เช่น มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ในปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่า 30% ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ในปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทย ในปี พ.ศ. 2570 มีคะแนนมากกว่า 80%

"สำหรับในอนาคต กองทุนดีอีมีนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรทุนเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Grant เพื่อจะได้ตรงกับสถานการณ์ ความต้องการ และความจำเป็นเร่งด่วน โดยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มเติม นอกเหนือจากการจัดสรรทุนแบบ Open Grant"

กำหนดเป้าหมาย-ตัวชี้วัดชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้การดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหวังว่า โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไปโดยสัมมนาในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาต่อยอดด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างความเข้าใจในรายละเอียด ขั้นตอนการดําเนินงานตามสัญญา

ภุชพงค์ เสริมว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกองทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เพราะช่วยส่งเสริม ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 

โดยกองทุนดีอี ได้ให้ทุนอุดหนุนหลายด้านเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย ซึ่งมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านเกษตรกรรม ด้านการให้บริการภาครัฐ และด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ กองทุนดีอี เป็นกองทุนชั้นนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเปิดกว้างให้กับผู้เสนอโครงการทั้งหน่วยงานของรัฐเอกชน 

อัพสกิล-รีสกิลทักษะบุคลากร 

ภุชพงค์ กล่าวว่า การอบรมของสดช.มีเป้าหมายหลักในการเผยแพร่แผนปฏิบัติการระยะยาว (พ.ศ. 2568 - 2572) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2568 ของกองทุนดีอี และเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเป้าหมายและตัวชี้วัดภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเป็นส่วนช่วยเร่งรัดการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยจะดำเนินการผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 2) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3) สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4) ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 5) พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 6) สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

"สำหรับการจัดสรรทุนที่ผ่านมาของกองทุนฯ มีการจัดสรรทุนให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"