ย้อนวีรกรรม JAS ลากประมูล 4G กว่า 30 ชั่วโมง ก่อนคว้าลิขสิทธิ์ 'พรีเมียร์ลีก'

ย้อนวีรกรรม JAS ลากประมูล 4G กว่า 30 ชั่วโมง ก่อนคว้าลิขสิทธิ์ 'พรีเมียร์ลีก'

ย้อนภาพจำ 10 ปีก่อน เมื่อ JAS เข้ามาป่วนวงการโทรคมนาคม โดยหวังจะเป็นผู้เล่นรายที่ 4 ในตลาดมือถือ แต่สุดท้ายก็ต้องทิ้งใบอนุญาตเพราะหาเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตไม่ทันตามกำหนดเวลาของ กสทช.

ชื่อบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ปรากฏอีกครั้งด้วยกระแสข่าวที่คอนเฟิร์ม หลังที่ประชุมบอร์ดอนุมัติ ให้เข้าทำรายการเพื่อให้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity right) ในการถ่ายทอดสดภาพ และเสียง รายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ บนอินเทอร์เน็ตทีวี (Internet TV) และดิจิทัล ทีวี (Digital TV) รวมถึงชุดวิดีโอสั้น (Clips package) 

ตลอดระยะเวลารายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ 3 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูกาลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ 2025/26 หรือ 6 ฤดูกาล ในกรณีที่บริษัท ได้รับแจ้งจาก The Football Association Premier League Limited (FAPL) เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,167 ล้านบาท

แต่หากใครยังจำเหตุการณ์เมื่อเกือบ 10 ปีได้ ครั้งนั้นประเทศไทยมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการในระบบ 4G จากคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช.

การประมูลครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่ใช้โมบายดาต้าอย่างสมบูรณ์ ต่อยอดจากระบบ 3G ที่เปลี่ยนเครือข่ายจากอะนาล็อกในอดีต

แจ้งเกิดน้องใหม่เข้าสู่ตลาด

บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด เป็นผู้เล่นรายที่ 4 กระโดดเข้ามาสู่สนามโทรคมนาคมเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้าให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในชื่อ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ โดยเป็นผู้รับสัมปทานจาก บมจ.ทีโอที ในสมัยนั้น 

ซึ่งภายใต้การนำทัพของ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ JAS  ครั้งนั้น JAS ไม่ได้เป็นน้องใหม่เพราะอยู่ในวงการสื่อสารคมนาคมมายาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปี และมีความพร้อมให้บริการโทรศัพท์มือถือซึ่งอาจจะดูว่าจะต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับใครหรือไม่ และในครั้งนั้นมีการระบุชื่อว่าจะได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้

ประมูล 33 ชั่วโมงคว้าไลเซ่นแรก

ประวัติศาสตร์การประมูล 4G คลื่น 900 MHz กินเวลายาวนานถึง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธ.ค.2558 มาแล้วรวมกว่า 33 ชั่วโมง รวมถึงการที่ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่ในวงการอย่าง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ได้ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท ในขณะที่ขาใหญ่อย่าง 'เอไอเอส' และ 'ดีแทค' ดีดตัวออกจากสมรภูมิไปก่อนหน้ามานานกว่า 10 รอบเคาะราคา

ท่ามกลางข้อสงสัย และความข้องใจว่า JAS จะมีศักยภาพในการให้บริการหรือไม่ และไม่เชื่อว่าจะหาเงินมาจ่ายราคาใบอนุญาตจากเคาะการประมูลได้มูลค่าสูงลิบ “พิชญ์” ก็แถลงข่าวยืนยันว่ากำลังเจรจาอยู่กับธนาคารกรุงเทพเพื่อหาหนังสือค้ำประกัน (แบงก์ การันตี) รวมถึงการติดต่อขอเช่าใช้เสาโทรคมนาคมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที และยืนยันในแผนธุรกิจ และศักยภาพในการเป็นผู้ให้บริการน้องใหม่ครั้งนี้ว่า “เราไม่ได้มาเล่นๆ”

 

 

ผิดนัดจ่ายค่าใบอนุญาต

จากนั้นวันที่ 21 มี.ค.2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชำระเงินค่าประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) อีกประมาณ 72,000 ล้านบาท กลับไม่มี JAS มาตามนัดแต่อย่างใด

นอกจากจะไม่ส่งสัญญาณใดๆ ให้ทางบอร์ด กสทช.ทราบแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เองก็ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเช่นกัน ทำให้ ตลท.ต้องขึ้นเครื่องหมาย H กับหุ้นของ JAS เพื่อหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเป็นการชั่วคราวตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าของวันที่ 22 มี.ค.2559 จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากบริษัท

เอไอเอสโดดรับช่วงต่อ

ท่ามกลางความอึมครึมผ่านไปเกือบ 3 เดือน ในที่สุดบอร์ด กสทช.ก็ตัดใจเปิดประมูลใบอนุญาตที่ถูกเท เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2559 โดยจะมีเพียงเอไอเอส เพียงรายเดียวที่เข้าสู่กระบวนการประมูล ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 16/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากผู้ชนะการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่จัดขึ้น ไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดในการอนุญาตให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด 

เป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และการบริการโทรคมนาคมแก่ประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยา และป้องกันความเสียหาย รวมทั้งเพื่อให้การประมูลที่จะจัดขึ้นใหม่เป็นไปด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เป็นธรรม หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 27 พ.ค.2559

ทั้งนี้ กสทช .กำหนดราคาตั้งต้นไว้ที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ JAS  เคยชนะแต่ทิ้งใบอนุญาต ซึ่งเอไอเอสก็ยืนยันในราคาดังกล่าว เพื่อครอบครองใบอนุญาต

ส่วน JAS ได้รับบทลงโทษจาก บอร์ด กสทช. คือ ค่าปรับจำนวน 644 ล้านบาท และขึ้นแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่อีก!!! แล้วเรื่องทุกอย่างก็จบลงเพียงเท่านั้น

ลุ้นพรีเมียร์ลีกสงครามตัวแทน

มาในครั้งนี้การคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก สร้างความตกตะลึงด้วยมูลค่าเฉียด 20,000 ล้านบาท จำนวน 6 ฤดูกาลก็น่าจะต้องรอคำตอบจากทาง JAS ว่าแนวทางการทำตลาดจะเป็นอย่างไร และการถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ตทีวี (Internet TV) และ ดิจิทัล ทีวี (Digital TV) รวมถึงชุดวิดีโอสั้น (Clips package) จะต้องหาพันธมิตรมาร่วมด้วยหรือไม่

แต่ JAS ตอนนี้ติดปีกแล้วโดยที่มีเอไอเอสคนที่มารับช่วงต่อคลื่น 900 ที่ JAS เคยทิ้งไว้ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ ในทริปเปิลที บรอดแบนด์ และปัจจุบันก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น AIS 3BB Fiber3 หลัง บอร์ด กสทช. ได้ไฟเขียวอนุมัติให้ AIS ดำเนินการควบรวมกับ 3BB ไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มูลค่ารวม 28,371 ล้านบาท

จึงน่าจะเชื่อได้ว่าการถ่ายทอดหรือพันธมิตรร่วมในครั้งนี้ แม้อาจยังไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่าย เดาได้ไม่ยากว่า AIS Play ที่เป็นแอปพลิเคชัน และ AIS Play Box ที่เป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ที่มีคอนเทนต์น่าจะมีส่วนร่วมกับการถ่ายทอดควบคู่กันไปทำให้ AIS Play ที่เปิดบริการเพื่อหาคอนเทนต์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ยังขาดคอนเทนต์เดียวที่ยังไม่มีในมือก็คือ พรีเมียร์ลีกหากเป็นอย่างนั้นจริงก็จะทำให้เอไอเอสเบียดทรูวิชั่นขึ้นมาเป็นตรีมมิงแพลตฟอร์ม ที่มีคอนเทนต์ระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ได้อย่างครบถ้วน

ต้องรอดูประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งประมูล 4G หรือไม่ และคำถามที่ว่า JAS จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่แพงระยับขนาดนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์