‘วิดีโอคอมเมิร์ซ’ เปิดมิติใหม่ โลกแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์

ยุคที่ “วิดีโอคอนเทนต์” กลายเป็นเครื่องมือในการเลือกซื้อสินค้า จึงไม่น่าแปลกใจที่วิดีโอคอมเมิร์ซ (Video Commerce) จะกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2567 (e-Conomy SEA 2024) ระบุว่า วิดีโอคอมเมิร์ซมีสัดส่วนมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) คิดเป็น 20% ของภาคอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในภูมิภาคในปี 2567
เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น การเติบโตนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดตัว YouTube Shopping ในประเทศไทยเมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้ ครีเอเตอร์และแบรนด์ สามารถเชื่อมโยงผู้บริโภคกับสินค้าได้อย่างไร้รอยต่อผ่านโปรแกรมแอฟฟิลิเอต
โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ได้นำ YouTube Shopping มาใช้
ภายใต้ความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช้อปปี้ผู้ชมสามารถซื้อสินค้าที่ครีเอเตอร์แนะนำได้ทันทีผ่านวิดีโอของพวกเขา การเปิดตัวนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครีเอเตอร์ แต่ยังสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งที่สะดวกสบายและไร้รอยต่อสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย
สร้างความน่าเชื่อถือ - เพิ่มยอดขาย
กูเกิลระบุว่า สำหรับแบรนด์ YouTube Shopping กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการร่วมมือกับครีเอเตอร์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ชม ด้วยคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับความสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
โดยการติดแท็กสินค้าผ่าน Google Merchant Center ช่วยให้ผู้ชมสามารถซื้อสินค้าได้ทันทีจากวิดีโอ นอกจากนี้ การใช้วิดีโอแบบสั้น (Shorts) และไลฟ์สด ยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมแบบเรียลไทม์
ผลการศึกษาของนีลเส็นระบุว่า YouTube สามารถสร้างผลตอบแทนจากค่าโฆษณาสูงกว่าโซเชียลมีเดียอื่นถึง 2.3 เท่า ซึ่งเป็นการยืนยันว่า YouTube Shopping สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์สามารถร่วมมือกับครีเอเตอร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและโปรโมตสินค้าของตนอย่างเป็นธรรมชาติ
จากผลสำรวจของ Kantar ระบุว่า 85% ของผู้ชมชาวไทยให้ความเชื่อถือคอนเทนต์ของครีเอเตอร์มากกว่าบนแพลตฟอร์มอื่นๆ (81%)
เปิดโอกาสสร้างรายได้ 'ครีเอเตอร์'
ไม่เพียงแต่แบรนด์เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จาก YouTube Shopping ในด้านของครีเอเตอร์เองก็สามารถสร้างรายได้จากการโปรโมตสินค้าในวิดีโอของพวกเขาผ่านโปรแกรมแอฟฟิลิเอต ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถรับค่าคอมมิชชันจากการขายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่พวกเขาแนะนำ
ความสำเร็จของ YouTube Shopping จึงไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนแบรนด์ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ครีเอเตอร์กลายเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างรายได้จากความนิยมในคอนเทนต์ของตัวเอง
YouTube ได้กำหนดเกณฑ์การเข้าร่วมโปรแกรมแอฟฟิลิเอตสำหรับครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ครีเอเตอร์ที่มีฐานแฟนคลับได้สามารถขยายธุรกิจของตนเองต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าของตัวเองหรือการร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ
สำหรับผู้บริโภคนั้น YouTube ได้พัฒนาให้ประสบการณ์การชอปปิงกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผ่านการรับชมวิดีโอที่ให้ข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับสินค้า ตั้งแต่การรีวิวสินค้าแบบเจาะลึกจนถึงการแนะนำการใช้งาน ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นก่อนการซื้อสินค้า
นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าประสบการณ์การช้อปปิ้งจะเป็นไปอย่างไร้รอยต่อและสะดวกสบายที่สุด
YouTube Shopping ถือเป็นการพลิกโฉมการชอปปิงในยุคดิจิทัลที่ไม่เพียงแต่เป็นการขยายช่องทางการขายของ แบรนด์และการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์เท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภคให้ทันสมัยและสะดวกยิ่งขึ้น
การผสมผสานระหว่างคอนเทนต์และชอปปิงจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ YouTube Shopping เติบโตและกลายเป็นส่วนสำคัญของการซื้อขายออนไลน์ในอนาคต
ปลดล็อกพลังใหม่
ขณะที่ตลาดการค้าดิจิทัลในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว การเปิดตัว YouTube Shopping ก็ได้ปลุกกระแสใหม่ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ออนไลน์
โดยเฉพาะกับโปรแกรมแอฟฟิลิเอตที่ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ทำการรีวิวสินค้าได้เหมือนเดิม แต่ยังเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่เคยคุ้นเคย