ฝ่า Inflation Crisis ด้วยนวัตกรรม | ต้องหทัย กุวานนท์  

ฝ่า Inflation Crisis ด้วยนวัตกรรม | ต้องหทัย กุวานนท์  

วิกฤตการณ์เงินเฟ้อกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก  แต่ละภูมิภาคกำลังเผชิญปัญหาในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน บางประเทศในอเมริกาใต้ระดับเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงกว่า  200% ในขณะที่ฝั่งยุโรปและอเมริกาอัตราเงินเฟ้อยังคงไต่ระดับอยู่ที่ 7-9%

ในเอเชียถึงแม้สถานการณ์เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในขั้นไม่รุนแรงมากที่ 1-3% แต่ก็ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพราะราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง  

สำหรับภาคธุรกิจภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธุรกิจมีทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่จะทำให้อยู่รอด การตัดสินใจขึ้นราคา ลดต้นทุนการผลิต และตัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ คือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 บางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอุปโภคเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ “Shrinkflation” ที่เป็นการลดขนาด ลดปริมาณเพื่อทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาเท่าเดิม แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยใช้กลยุทธ์ราคามักจะส่งผลกระทบกับองค์กรในระยะยาว 
     

   จากข้อมูลล่าสุดของ Qualtrics  ที่ทำการสำรวความคิดเห็นของผู้บริหารระดับ C-Suite ในองค์กรชั้นนำพบว่า 93% ของผู้นำองค์กรกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย 40% มองว่าต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่กว่า 85% มองว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้คือโอกาสสำคัญของการขับเคลื่อน Digital Transformation และลงทุนในเรื่องสำคัญๆเช่น เทคโนโลยีที่จะพัฒนาระบบงานให้ทันสมัยขึ้น นวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและการจัดการ  รวมถึง การพัฒนาทักษะใหม่ให้กับพนักงานในองค์กร

ฝ่า Inflation Crisis ด้วยนวัตกรรม | ต้องหทัย กุวานนท์  

เมื่อธุรกิจอยู่ในภาวะหลังชนฝา ทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงนี้ มักจะเป็นไปเพื่อปรับโครงสร้างต้นทุนในระยะยาว

 อีกข้อมูลการสำรวจของ Gartner กับ CFO องค์กรขนาดใหญ่ในไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า 78% ของ CFO ต้องการขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีขององค์กรทั้งในปีนี้และปีหน้า  โดยจะเน้นที่การลงทุนด้านระบบ Automation 
       

การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อมักจะมาพร้อมกับการปรับกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อหาโมเดลใหม่ในการทำธุรกิจ อดีตที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสได้เสมอ

หลายธุรกิจในอดีตที่เติบโตขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ใช้ “นวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิด “ทางเลือกใหม่”  เช่น แมคโดนัลด์ที่ประสบความสำเร็จกับการออกแบบระบบครัวและคิดรูปแบบการให้บริการใหม่ที่ใช้คนน้อยและต้นทุนต่ำ (Speedee Service System)

Airbnb ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้คนหาที่พักได้ในราคาที่ถูกลง และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Adobe ก็ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายซอฟท์แวร์มาเป็นการขายระบบสมาชิกบนคลาวด์ที่ทำให้ต้นทุนลดลงทั้งในฝั่งผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน จากอดีตสู่ปัจจุบัน

วันนี้การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน Automation, Smart Energy, และ Smart Factory กำลังมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยองค์กรธุรกิจให้สามารถบริหารต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
     

การแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์ต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น คือทางออกที่ยั่งยืนสำหรับองค์กร แต่อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามคือ การเร่งเตรียมความพร้อมของทีมงานในองค์กรที่จะขับเคลื่อนวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่และปั้นโมเดลธุรกิจใหม่
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม