“นวัตกรรม”…เริ่มได้ง่ายใกล้ตัว | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

“นวัตกรรม”…เริ่มได้ง่ายใกล้ตัว | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

ว่ากันว่า  ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (KSF) ในยุค “อุตสาหกรรม 4.0” และ “ประเทศไทย 4.0” ก็คือ (1) เทคโนโลยี  และ (2) นวัตกรรม

เทคโนโลยี และ นวัตกรรม จึงเป็นตัวชี้วัด “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “ความอยู่รอด” ขององค์กรต่างๆ ในปัจจุบัน ทุกวันนี้   ต้องยอมรับว่า เราคงเอาชนะเรื่องของ “เทคโนโลยี” ไม่ง่าย  แต่เรื่องของ “นวัตกรรม” แล้ว  ไทยเราไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ
  

เมื่อพูดถึง “นวัตกรรม” (Innovation)  หลายท่านมักจะนึกถึงนวัตกรรมแบบพลิกโฉมหรือก้าวกระโดดที่สร้างความโดดเด่นและแหวกแนวเปลี่ยนโฉม ดังเช่น บริษัท Apple ที่สร้าง iPhone หรือ บริษัท Google ที่สร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทาง Internet ด้านการสื่อสาร  

จนทำให้เราเข้าใจว่า การสร้างนวัตกรรมหมายถึงการผลิตสินค้าหรือเสนอบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนทั้งโลก พร้อมกับพลิกโฉมการตลาดได้อย่างสิ้นเชิง
  

 แต่แท้จริงแล้ว  นวัตกรรมอาจไม่ได้ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมก้าวกระโดดเสมอไป   แต่การก้าวไปข้างหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ถือเป็นนวัตกรรมได้เช่นกัน  ซึ่งบ่อยครั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และอื่นๆ ทีละเล็กทีละน้อย อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่านวัตกรรมแบบก้าวกระโดดเสียอีก เพราะมันจะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน
  

 “นวัตกรรม” หมายถึง การคิดใหม่ทำใหม่ ในเรื่องของการบริหารจัดการ  วิธีทำงาน  การออกแบบ  การผลิต  การบริการ  การขนส่ง  การค้าขาย  เป็นต้น  ซึ่งอาจจะเป็นของใหม่เอี่ยมแบบที่ไม่เคยมีไม่เคยทำมาก่อนเลยก็ได้ หรือ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือทำอยู่แล้ว  เพื่อให้ดีขึ้นหรือแปลกใหม่ขึ้น ซึ่งแตกต่างจากของเดิม  โดยไม่ใช่การลอกเลียนแบบหรือเหมือนของเดิมทั้งหมด

“นวัตกรรม”…เริ่มได้ง่ายใกล้ตัว | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

การสร้างนวัตกรรม จึงหมายถึง การพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ต่างจากของเดิมๆ  รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมในองค์กร  ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถสร้างสินค้ารูปแบบใหม่ๆ และนำสินค้านั้นๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง  โดยเริ่มจากก้าวที่เล็กไปสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และในที่สุดก็จะเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ไปเอง
  

 ตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวที่เห็นได้ชัด ก็คือ 
(1) สบู่ล้างมือ คือจากเดิมที่เป็นสบู่ก้อน พัฒนาเป็นสบู่เหลว เป็นโฟมล้างมือ จนเป็นแอลกอฮอล์ทั้งแบบเจลและแบบสเปรย์ในปัจจุบัน  
(2) รถยนต์ คือตั้งแต่มีรถยนต์เกิดขึ้นในโลก วิศวกรต่างก็คิดค้นสิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่ค่อยเป็นค่อยไป  โดยเน้นการปรับเปลี่ยนที่อุปกรณ์หรือส่วนประกอบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละส่วน 

เช่น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น แรงม้าเพิ่มขึ้น สามารถเร่งความเร็วในเวลาที่น้อยลง และจากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย จึงทำให้รถยนต์ทุกวันนี้มีสมรรถนะที่แตกต่างจากรถยนต์รุ่นแรกๆ อย่างมาก จนพัฒนาสู่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ในปัจจุบัน   
    

ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา  ความสำเร็จของธุรกิจอุตสาหกรรมมักจะเกิดขึ้นจากการมุ่งเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (Efficiency and effectiveness) เป็นหลัก นั่นคือ สร้างผลผลิตให้มีคุณภาพดีที่ต้นทุนต่ำที่สุดและมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด

“นวัตกรรม”…เริ่มได้ง่ายใกล้ตัว | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

แต่ในโลกที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน  ผู้บริหารมักจะถูกท้าทายจากคู่แข่งที่อาศัยนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในเวลาอันสั้น  

ดังนั้น การที่จะเป็นผู้นำได้อย่างยั่งยืน องค์กรจะต้องมีผู้นำที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่ รวดเร็ว ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ  โดยที่พนักงานทุกคนทุกระดับจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ตลอดเวลาด้วย
    

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า  สาเหตุหลักที่ทำให้นวัตกรรมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องมาจากการที่องค์กรมีนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่น มีขั้นตอนการทำงานที่เข้มงวด  มีการเมืองภายใน และขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ  

จึงไม่น่าจะแปลกใจเลยว่า องค์กรขนาดเล็กหรือ SMEs จะสามารถดึงเอาความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานมาขยายผลเพื่อสร้างนวัตกรรมได้ดีและรวดเร็วกว่าองค์กรใหญ่ๆ
    

แต่ในความเป็นจริงแล้ว  นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ มักจะขึ้นอยู่กับความสามารถของพนักงานทุกคนในองค์กรที่จะช่วยกันออกความคิดแปลกใหม่  เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของลูกค้า  ซึ่งต้องทำกันอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ จนกลายเป็นนิสัยประจำในการงานและชีวิตประจำวัน
    

นวัตกรรมจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว  แต่มันคือการสร้างความแตกต่างที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นจากการช่วยกันคิดช่วยกันทำและการเรียนรู้ร่วมกันของเพื่อนร่วมงาน
  

 ปัญหาในวันนี้  จึงอยู่ที่ “การพัฒนาความสามารถในความคิดสร้างสรรค์” อย่างเป็นระบบให้แก่พนักงาน  เพื่อช่วยกันสร้างนวัตกรรมในตัวสินค้าและบริการ ที่สามารถตอบโจทย์หรือความต้องการของลูกค้า และสังคมได้อย่างทันการณ์
  

 ทุกวันนี้ การที่เราพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ ก็ด้วยนวัตกรรมของการเปลี่ยนแปลงทีละก้าว (ทีละเล็กทีละน้อยที่สร้างความแตกต่างจากเดิม) คือไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในพรวดเดียว  ซึ่งยากกว่ากันมาก
        ดังนั้น “นวัตกรรมในวิธีคิดวิธีทำงาน” จึงเป็นเรื่องง่ายที่เริ่มได้ใกล้ตัว แต่ได้ผลคุ้มค่า  ครับผม !