วิศวกรรมความฝัน เทคโนโลยีที่ช่วยมนุษย์ให้หลุดจากฝันร้าย
MIT Media Lab คิดค้นโปรเจ็กต์ Dormio เทคโนโลยี “วิศวกรรมความฝัน” ช่วยออกแบบความฝันให้กับมนุษย์ตามสิ่งที่ต้องการจะฝัน โซลูชันช่วยให้ผู้ป่วยหรือคนที่มีอาการ PTSD หลุดจากฝันร้าย
ขณะนี้หลายคนสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เมตาเวิร์ส ที่ต้องสวมใส่แว่นตาเพื่อรับชมภาพ 3D หากแต่ความจริงแล้วมนุษย์เราเข้าถึงโลกเสมือนทุก ๆ คืนอยู่แล้ว ผ่าน “ความฝัน” โดย 1/3 ของชีวิตมนุษย์ใช้ไปกับการนอน แต่ละคืนที่เรานอนก็จะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงไปกับการฝัน
เราฝันคืนละหลาย เรื่องละ 5-20 นาที จิตนาการในความฝันมีทั้งดี ไม่ดี ตลอดจนฝันที่สุดประหลาดและไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในชีวิตปัจจุบันของเรา โดย 95 เปอร์เซ็นของเนื้อหาในความฝันจะถูกสมองลบไปหลังจากเราตื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าสมองส่วนบันทึกความจำไม่ได้ทำงานเต็มที่ระหว่างที่เราฝัน
มีหลาย ๆ คนที่สามารถควบคุมความฝันของตนเองได้ หรือที่เรียกว่า “ภาวะตื่นรู้ในความฝัน (Lucid Dream)” เป็นสภาวะของร่างกายและจิตใจที่รู้ตัวว่ากำลังฝันในขณะที่กำลังหลับ เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ใจเราต้องการ อาจจะเป็นการฝันว่าตนเองบินได้ ฝันว่าตนเองมีเวทมนต์ หรือจะบิดปารีสให้ม้วนเป็นขนมโตเกียวแบบในหนังเรื่อง Inception ก็ย่อมได้
(ภาพจาก: freepik)
ทั้งนี้ ก็ยังมีอีกหลายคนที่เกิดการ “ฝันร้าย” เช่น การฝันถึงสิ่งน่ากลัว สยองขวัญ เหตุการณ์ในอดีตที่อยากลืม หากฝันร้ายในเรื่องเดิมบ่อย ๆ อาจจะร้ายแรงถึงขั้นนอนไม่หลับ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ เพราะไม่มีเวลานอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
ทางศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคต (MIT Media Lab หรือ MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยมนุษย์ออกแบบความฝันของตนเอง และใช้หุ่นยนต์รายงานความฝันออกมาเพื่อใช้ตอบคำถามว่า คน ๆ นั้นฝันเรื่องอะไรขณะที่เขากำลังหลับ ผ่านโปรเจ็กต์ Dormio
พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศไทยใน MIT กล่าวว่า โปรเจ็กต์ Dormio เป็นผลงานที่ถูกสร้างโดย Dream Lab ทีมนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย MIT ซึ่งนำโดย Adam Horowitz ได้ออกแบบโปรแกรมที่ทำให้คนสามารถฝันได้ตามที่ต้องการ โดยการใช้อุปกรณ์จาก Dormio สวมใส่ที่มือ จากนั้นก็ปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น (Hypnagogic) คล้ายกับการกล่อมให้คน ๆ นั้นฝันถึงที่สิ่งที่เขาต้องการ และจะมีหุ่นยนต์ที่อยู่ข้างเตียงคอยบันทึกความฝันของเขาจากการ “ละเมอพูด” ในสิ่งที่ฝัน บันทึกออกมาเป็นข้อมูล
ซึ่งหุ่นยนต์ที่ว่าจะบันทึกความฝันผ่านผ่านการละเมอพูดหรือตอบคำถามของคน เช่น หุ่นยนต์จะถามว่าต้องการให้ไดโนเสาร์ไปอยู่กับใคร ถ้าคนที่หลับละเมอขึ้นมาว่า ต้องการให้ไดโนเสาร์ไปอยู่กับนักการเมือง หุ่นยนต์ก็จะบันทึกเสียงตรงนั้น และเมื่อคน ๆ นั้นตื่นมาก็จะทำให้ฟังเสียงของตนเองได้ ผ่านรายงานความฝัน
“เราทดลองให้คนมานอนหลับ และสั่งหุ่นยนต์ออกแบบฝันให้คนกลุ่มนั้นฝันถึงกระต่ายกับส้อม และตรวจสอบดูว่ามีกี่คนที่ฝันเกี่ยวกับสิ่งนี้ ซึ่งการใช้กระต่ายกับส้อมเป็นการวัดความคิดสร้างสรรค์ว่า คุณสามารถเอามันไปทำอะไรในฝันได้บ้าง บางคนก็บอกว่าเอากระต่ายไปขูดมะพร้าว เอากระต่ายไปอยู่บนดวงจันทร์ เราป้อนหัวข้อลงไปแต่การสร้างสรรค์จินตนาการก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของความฝันคนนั้น”
นอกจากนี้ ศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์อย่าง Thomas Edison, Nicola Tesla และ Salvador Dali จะใช้ประโยชน์จากความฝันของตนเอง ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เพื่อรังสรรค์งานชิ้นต่อไปด้วยไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งในช่วงนี้สมองส่วนหน้าจะเริ่มทำงาน และปล่อยให้ไอเดียประหลาด ๆ หลุดออกมา
เทคนิกที่ใช่คือ การถือลูกบอลเหล็กหนักไว้ในมือและพยายามจะนั่งหลับ ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นกล้ามเนื้อจะมีความผ่อนคลาย จากนั้นลูกบอลเหล็กจะตกลงมา เมื่อลูกบอลตกเสียงดังปึ้ง! ก็จะปลุกให้พวกเขาตื่นขึ้น เหตุผลที่ทำแบบนี้คือ เขาต้องการรายงานได้ว่าในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่นเขากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งไอเดียในช่วงนี้ก็จะประหลาด พิลึก สามารถเกิดจินตนาการที่ช่วงปกติไม่สามารถทำได้
นี่จึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ Dormio หรือการ “วิศวกรรมความฝัน (Engineering Dreams)” ที่ไม่ต้องปลุกคนให้ตื่น แต่เป็นการทำให้คนนั้นฝันในสิ่งที่เขาต้องการ และสามารถนำความฝันของคนนั้นมารายงานเป็นงานศิลปะที่มีข้อมูลได้
เทคโนโลยีนี้สามารถออกแบบความฝันให้มนุษย์ได้ถึง 80% ยกตัวอย่างเช่น นายบีอยากฝันถึงไดโนเสาร์ โปรแกรมก็จะใช้เสียงทำให้นายบีฝันถึงไดโนเสาร์ แต่จะเป็นไดโนเสาร์ในรูปแบบไหน สไตล์น่ารัก สไตล์สมจริง ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับจิตนาการของนายบี
“เหตุผลที่เราทำโปรเจ็กต์นี้เพราะเราเชื่อว่า มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ได้ถูกปล่อยออกมาใช้ เนื่องสภาพแวดล้อมกดดัน และด้วยขีดจำกัดทางสังคมต่าง ๆ ถ้าเราสามารถ extract ความคิดสร้างสรรค์จากความฝันออกมาได้ เราก็จะปลดปล่อยจิตนาการใหม่ ๆ ที่เราไม่กล้าจะพูดหรือคิดออกมาในช่วงตื่นนอน หรือที่เรียกว่า การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้กับมนุษย์”
(ภาพจาก: MIT Media Lab)
หากแต่เทคโนโลยีนี้ก็เป็นเสมือนดาบสองคม เนื่องจากหากใช้ให้ถูกประโยชน์ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ แต่หากใช้ผิด ๆ ก็จะทำให้เกิดการล้างสมองคนได้ โดยทางทีม MIT ได้มีการแนะนำวิธีการใช้งาน และข้อควรห้ามสำหรับเทคโนโลยีนี้ไว้อย่างละเอียดในนิทรรศการ Engineering Dreams
ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ถูกใช้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะผลกระทบของบาดแผลทางจิตใจ (Post Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) เช่น ทหารที่ผ่านศึกผ่านสงคราม เพื่อที่จะไม่ทำให้เขาฝันร้าย โปรแกรมก็จะช่วยให้เขาสามารถหลุดพ้นจากฝันที่ไม่ดี ทำให้นอนหลับง่ายขึ้นได้
“โปรเจ็กต์นี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาผสมกับศิลปะ ทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นได้ว่ามนุษย์กับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้งานแค่ตอนตื่น แต่สามารถใช้งานตอนหลับได้ด้วย ซึ่งมันก็ยังต่อยอดไปถึงวิจัยการเรียนในขณะหลับ และใช้บำบัดอาการ PTSD ในคนที่ฝันร้ายได้ เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะตามอง” พัทน์ ชี้สุดสรุป