ครั้งแรกในภาคเหนือ! สิ่งทอลำพูนซื้อขายออนไลน์ผ่านเมตาเวิร์ส
บริษัท วายทีโซลูชั่น จำกัด ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น นำสินค้าผู้ประกอบการผ้า โอทอป 3-5 ดาวในจังหวัดลำพูน จำนวน 30 ราย จัดแฟชั่นออนไลน์ จำหน่ายดิจิทัลผ่านระบบเมตาเวิร์ส
เมตาเวิร์สเป็นเทคโนโลยีพื้นที่เสมือนจริง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งศิลปินพื้นถิ่นมีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของตนเองได้ยังไร้ขีดจำกัด
จึงถือเป็นครั้งแรกของภาคเหนือ หวังเพิ่มช่องทางการขายเสมือนจริงที่ทันสมัยในตลาดโลก-เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เล็งยกระดับเป็นโมเดลต่อยอดในกลุ่มสินค้าอื่นๆ ก้าวเข้าสู่การสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล
พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศในรูปแบบของการแสดงผลงานสร้างสรรค์ประเภทลวดลายรูปภาพตลอดจนแนวคิดต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย
ทั้งมีการเชื่อมโยงกับกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อให้สามารถตั้งราคาขายในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลได้
ทั้งนี้ จะเป็นเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ที่จำหน่ายในช่องทางปกติถือเป็นรูปแบบใหม่ในการเข้าสู่พื้นที่การขายที่ทันสมัยและมีคู่แข่งน้อยราย
สินค้าที่นำมาจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นสินค้าจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับผ้า ซึ่งเป็นสินค้า OTOP 3-5 ดาว จากจังหวัดลำพูน จำนวน 30 ราย
ชาตยา จึงสุวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท วายทีโซลูชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มสร้างสรรค์โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าหรือแฟชั่น ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นการจำหน่ายในรูปแบบออฟไลน์เป็นหลัก
มูลค่าของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หากประเมินในมุมมองเดิมจะพบว่าเป็นมูลค่าในลักษณะชิ้นงาน ที่เมื่อจำหน่ายไปแล้วก็จะเป็นสินทรัพย์ของผู้ซื้อทันที ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในแต่ละชิ้นงาน
แต่ละชิ้นงานเกิดจากการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ สร้างสรรค์เป็นผลงานขึ้นมา ทั้งในรูปแบบของลวดลายการทอการย้อมสี แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าในรูปแบบดิจิทัลมากนักในตลาด
ทางบริษัทวายทีโซลูชั่น จำกัด ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน แฟชั่นออนไลน์ ผ่านระบบเมตาเวิร์ส ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าในภาคเหนือ
นิทรรศการรองรับการแสดงผลผ่านการสวมกล้อง VR Oculus Quest 2 ขึ้นไป เป็นการก้าวผ่านข้อจำกัดด้านการเดินทางของผู้เข้าชม ซึ่งผู้ชมสามารถพาตนเองเข้าชมผ่านพรมแดนดิจิทัลแบบเสมือนจริง และยังสามารถ พูดคุย ให้กำลังใจ เจ้าของผลงาน หรือผู้ชมคนอื่น ๆได้อีกด้วย
ชาตยา ยังกล่าวอีกว่า โครงการที่ได้ดำเนินการอยู่ในรูปแบบของ sandbox model ดำเนินการเพื่อทดสอบหาโอกาสทางการตลาดในการเข้าสู่ช่องทางเมตาเวิร์สในอนาคต ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้และประสบความสำเร็จด้วยดี
จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพความเข้มแข็งของผู้ประกอบการรายย่อย ศิลปินพื้นถิ่น ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีการสะสมของศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลได้
สำหรับผลจากการดำเนินการช่องทางต้นแบบ พบว่าได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่นอกเหนือของประเทศไทย และจากผลการประเมินผลประสิทธิภาพของการดำเนินงานในรูปแบบ sandbox model ที่ใช้ระยะเวลาในการประเมิน 3 วัน
พบว่าผลการประเมินจาก ยอดผู้พบเห็น และยอดผู้ตอบสนอง ผ่าน เพจเฟซบุ๊ก ของ YT Solutions ซึ่งเป็นโพสที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา มียอดผู้พบเห็น 1,319 ครั้ง มีผู้ส่วนร่วมในการกด ไลค์ จำนวน 176 ครั้ง
สำหรับการเข้าชมนิทรรศการแสดงผลงาน แฟชั่นออนไลน์ ในภาพรวมส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าชมภายในประเทศ เนื่องจากเป็นการทดลอง Sandbox โดยมีจำนวนผู้เข้าชมจากประเทศไทยทั้งสิ้น 296 ราย
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของผู้เข้าชมจากต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการเข้าชมตามความสนใจของแต่ละประเทศ โดย มีจำนวนผู้เข้ามาชมจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 15 ราย จากประเทศเวียดนามจำนวน 6 ราย และจากประเทศสวีเดน 2 ราย
ด้าน อาจารย์สัชฌุเศรษฐ์ เรืองเดชสุวรรณ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น ให้ข้อมูลว่า การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำการตลาด
แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือผู้ประกอบการธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงกลุ่ม ธุรกิจครอบครัว อยู่ในช่วงรอยต่อของ เจเนอเรชั่น ระหว่าง ผู้ก่อตั้งกับผู้สืบทอด
จึงส่งผลให้เกิดช่องว่างในด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์
ดังนั้น การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ จึงเริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทย พร้อมกับกระแสของความนิยมในการตลาดดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างมาก จากปัจจัยเร่งในเรื่องของโควิด-19
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบเดิมที่เป็นออฟไลน์ ทำให้ธุรกิจต่างต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางออนไลน์เพื่อระบายสินค้าไปยังลูกค้าเป้าหมาย
อาจารย์สัชฌุเศรษฐ์ กล่าวอีกว่า ผลจากการเร่งปรับตัวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ทำให้มีปริมาณการใช้งานช่องทางออนไลน์สูงขึ้นมากในประเทศไทย แต่มีข้อจำกัดคือ ช่องทางการตลาดออนไลน์ในประเทศไทยยังมีความนิยมใช้ไม่มาก
ส่วนใหญ่จะใช้ผ่านช่องทาง การทำสื่อการตลาดออนไลน์บนช่องทางต่าง ๆบนสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม และผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสำเร็จรูป ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์
ซึ่งมีผู้ค้าจำนวนมากทำให้โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กที่พึ่งเข้าสู่ตลาดโดยเฉพาะช่องทางดิจิทัลประสบความยากลำบากในการสร้างพื้นที่ของตนเองเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย”
หากผู้ประกอบการ ศิลปินพื้นถิ่น สามารถเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าดิจิทัลผ่านระบบเมตาเวิร์สได้ จะทำให้เพิ่มมูลค้าของสินค้าที่ตนมีอยู่ สามารถนำสำเสนอและขายตัวสินค้า หรือลวดลายของสินค้าในแก่ชาวต่างชาติได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นการยกระดับสินค้า เป็นการเติบโตในสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้ว
ผู้ที่สนใจสามารถทดลองเข้าชมนิทรรศการแสดงผลงาน แฟชั่นออนไลน์ ได้ที่ https://cutt.ly/YTmetaverse เมื่อเข้าสู่หน้าแรก กด "enter world ในกรณีรับชมเพียงลำพัง หรือ กด "enter in multiplayer"(กรณีร่วมชมกับผู้อื่น).