ได้ใช้แน่ “มินิบัสไฟฟ้าอัตโนมัติ” เปิดทดสอบลงสนามปทุมธานีปี 66
สวทช. หนุนพลังงานยานยนต์สะอาด ชี้ “รถโดยสารมินิบัสไฟฟ้า” จะเริ่มทดสอบเดินรถในพื้นอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ปี 2566
ทุกวันนี้ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้หยุดนิ่งเพียงการพัฒนา “รถไฟฟ้า” เพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำมันเชื้อเพลิง แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างพุ่งทะยานสู่การสร้างนวัตกรรมยานยนต์อย่าง “เทคโนโลยียานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ” เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน
ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสิริ เวนเจอร์ส และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในรูปแบบรถกอล์ฟไฟฟ้าแบบ 6 ที่นั่ง
ล่าสุด สวทช. จับมือกับ บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ต่อยอดงานวิจัยพัฒนา “ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็กขับขี่อัตโนมัติ” ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) คาดว่าจะสามารถผลิตต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าขับขี่อัตโนมัติเสร็จภายในปี 2566 และจะทดสอบเดินรถในพื้นที่ปิด คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สุธี โอฬารฤทธินันท์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สวทช. กล่าวว่า จากความสำเร็จในการพัฒนารถกอล์ฟขับขี่อัตโนมัติขนาด 6 ที่นั่ง ทีมวิจัยตั้งเป้าขยายผลสู่การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็กขับขี่อัตโนมัติ ระดับที่ 3 (รถยนต์ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติแต่มีผู้ขับขี่คอยเฝ้าระวังและแทรกแซงในกรณีที่ฉุกเฉิน)
ซึ่งตัวรถบรรทุกผู้โดยสารได้ 15 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า วิ่งได้ความเร็วสูงสุด 35 กม./ชม. เป็นโครงการวิจัยร่วมกับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตรถบรรทุกเป็นทุนเดิม
ในการดำเนินโครงการ ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ แพลตฟอร์มยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Platform) และระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle)
โดยในส่วนของ EV Platform มีการพัฒนาตั้งแต่เรื่องของการออกแบบโครงสร้างยานยนต์ไฟฟ้า การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ การออกแบบวงจรไฟฟ้าเพื่อควบคุมการทำงาน รวมถึงการศึกษาเรื่องพลศาสตร์ยานยนต์ (Vehicle Dynamics) คือ ศึกษาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของรถ
เช่น โครงสร้างและน้ำหนักรถที่ออกแบบมามีผลต่อสมรรถนะการขับขี่หรือไม่ รถสามารถใช้ความเร็ว การเลี้ยว หรือเข้าโค้งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
ส่วนระบบ Autonomous Vehicle เป็นการพัฒนาระบบควบคุมและสัญญาณให้มีความเหมาะสมมากขึ้น จากเดิมที่ใช้กับรถกอล์ฟมาสู่รถโดยสารขนาดเล็ก ต้องศึกษาทั้งการใช้เซนเซอร์ตรวจวัดสัญญาณ ระบบสั่งการ ระบบ Machine Learning รวมถึงระบบนำทางให้มีความเหมาะสมกับขนาดของรถ
ทั้งนี้ การพัฒนายานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม (Computer-Aided Engineering: CAE) มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบ EV Platform
เช่น การออกแบบโครงสร้างรถยนต์ การจำลองระบบควบคุม การขับเคลื่อนของรถในลักษณะต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ผลการทำงานและปัญหาเบื้องต้นก่อนที่จะนำไปใช้สร้างต้นแบบรถจริง
ขณะเดียวกันเมื่อทีมวิจัยสร้างต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าเสร็จแล้ว เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรมยังมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาการเรียนรู้ของระบบ Autonomous Vehicle โดยใช้จำลองเส้นทางการเดินรถ และเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบการรู้จำและการตัดสินใจของระบบควบคุมอัตโนมัติให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ก่อนนำมาติดตั้งจริงในรถต้นแบบ
“ขณะนี้การดำเนินโครงการยังอยู่ระหว่างการออกแบบและคำนวณทางวิศวกรรม โดยคาดว่าจะสามารถผลิตต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าขับขี่อัตโนมัติเสร็จภายในปี 2566 และจะทดสอบเดินรถในพื้นที่ปิด คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
เพื่อเก็บข้อมูลและประเมินสมรรถนะการขับขี่ของรถ รวมถึงปรับจูนระบบ EV Platform และ Autonomous ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดหวังว่าองค์ความรู้ในการพัฒนาต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าขับขี่อัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในการนำไปใช้พัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
รวมถึงอาจนำไปใช้ทดสอบเป็นพาหนะเชื่อมโยงเครือข่ายขนส่งสาธารณะจากรถไฟฟ้าสายสีแดงมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นต้น” สุธี กล่าว