รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมความพร้อมลุย Web 3.0
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินคำว่า Web 3.0 กันพอสมควร เพราะตอนนี้ Web 3.0 เป็นตลาดทางธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก
Web 3.0 หมายถึงอะไร?
Web 3.0 นั่นก็คือ ยุคของอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีศูนย์กลาง ซึ่งเป็นการพัฒนาจาก Web 1.0 ซึ่งเป็นการที่ผู้ใช้งานส่วนมากเป็นผู้รับข้อมูล โดยส่วนใหญ่สามารถอ่านข้อมูลบนเว็บได้อย่างเดียว
และ Web 2.0 ซึ่งเป็นการที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กันได้บนเว็บโดยผ่านแพลตฟอร์มของคนกลาง เช่น Google หรือ Apple และอำนาจการจัดการจะรวมศูนย์ที่บริษัทเหล่านั้น
ในขณะที่ Web 3.0 นั้น จะเป็นการที่ผู้ใช้งานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยไม่ต้องมีคนจัดการที่เป็นส่วนกลางโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร่างของ NFT White Paper ที่เสนอโดยทีมที่รับผิดชอบพิจารณานโยบายเรื่อง NFT (Non-Fungible Token) ของ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party (LDP)) ได้รับการรับรองและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีคิชิดะ โดยที่ใน NFT White Paper นี้มีการกล่าวถึงความสำคัญของการเร่งสร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ NFT
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคเสรีประชาธิปไตยได้มีการแจกโทเคนของนายกรัฐมนตรีคิชิดะที่เป็น NFT เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องของรัฐบาลมีความคุ้นเคยกับ NFT
นอกจากนี้ ในการประกาศ Basic Policy on Economic and Fiscal Management and Reform 2022 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงนโยบายในการสร้างและพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการพัฒนา Web 3.0
ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระดับโลกและไม่ให้ญี่ปุ่นตกขบวนโอกาสนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศต่าง ๆ กำลังสร้างสภาพแวดล้อมการส่งเสริม NFT อยู่ในปัจจุบัน
กล่าวกันว่า เนื่องจากญี่ปุ่นมีทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เช่น เกมและอนิเมะ จึงมีการโอกาสที่ญี่ปุ่นจะสามารถเป็นผู้นำของโลกด้านธุรกิจ NFT หรือ Web 3.0 ได้
ในทางกลับกัน สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับ NFT ของญี่ปุ่นในปัจจุบันยังมีปัญหาต่าง ๆ อยู่มากมาย เช่น การคุ้มครองผู้ใช้งาน ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของธุรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ภาระทางภาษีของ crypto asset ที่มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ การที่ผู้ประกอบกิจการเลือกออกไปประกอบกิจการในต่างประเทศ ฯลฯ
ปัญหาทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้มีการกล่าวถึงใน NFT White Paper นั้น อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท อันได้แก่
- นโยบายที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจ NFT เช่น ในกรณีที่กลุ่มธนาคารจะทำธุรกิจด้าน NFT ขอบเขตกิจกรรมที่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายนั้นไม่ชัดเจน
- นโยบายที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองเจ้าของคอนเทนต์ เช่น ความไม่ชัดเจนของสิทธิของนักกีฬาหรือนักแสดงในแวดวงกีฬาหรือวงการบันเทิงสำหรับค่าสิทธิที่จะได้จาก NFT ในตลาดรอง
- นโยบายที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งาน เช่น สถานะทางกฎหมายและสิทธิที่จะได้มาเมื่อได้มา(ครอบครอง)ซึ่ง NFT นั้น ยังเข้าใจได้ยากอยู่สำหรับผู้บริโภคทั่วไป
- นโยบายที่จำเป็นสำหรับการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนธุรกิจ NFT เช่น สถานะทางกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับสำหรับ องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized Autonomous Organizations (DAO)
- นโยบายที่จำเป็นสำหรับการรักษาผลประโยชน์ของสังคม เช่น NFT นั้นอาจถูกนำไปใช้เพื่อการฟอกเงินหรือก่อการร้ายได้ แต่ก็ยังไม่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการยืนยันตัวตน ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้น
เราก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าญี่ปุ่นจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อส่งเสริมธุรกิจ NFT และ Web 3.0 และญี่ปุ่นจะสามารถเป็นผู้นำของโลกด้าน Web 3.0 ตามที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่.
คอลัมน์ Business&Technology Law
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น
[email protected]