จิสด้าส่ง “Marine GI” หนุนเศรษฐกิจทะเลไทย

จิสด้าส่ง “Marine GI” หนุนเศรษฐกิจทะเลไทย

จิสด้า จัดงาน “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลตามแนวทางการจัดการแบบองค์รวม” พร้อมเปิดตัว Marine GI Portal Platform ที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ด้านทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย

ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 กว่า 3.5 แสนตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวทางชายฝั่งทะเลรวมฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด มีผู้ใช้ประโยชน์จากทะเลในทุกกลุ่ม ทุกระดับและทุกพื้นที่

เมื่อประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางทะเล (เศรษฐกิจภาคทะเล) ในปี 2557 มีมูลค่า 24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีมูลค่า 7.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นรูปตัวเงิน (ที่มา : ศ.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์) แต่ทะเลไทยกำลังเผชิญวิกฤติจากบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่มีการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จิสด้าส่ง “Marine GI” หนุนเศรษฐกิจทะเลไทย

แพลตฟอร์มจัดการเชิงพื้นที่

ในงานสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “Marine GI Portal Based On A Holistic Approach เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลตามแนวทางการจัดการแบบองค์รวม” พร้อมเปิดตัว Marine GI Portal Platform ที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ด้านทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย 

สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า ทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความสําคัญและมีคุณค่าอย่างมาก แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านความอุดมสมบูรณ์และคุณภาพของทรัพยากรและสภาพของแวดล้อมอย่างมากด้วยเช่นกัน

สาเหตุหลักเกิดจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว การเติบโตของแหล่งท่องเที่ยว การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อีกทั้งยังขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการและบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ 

ด้วยเหตุนี้ GISTDA จึงพัฒนา “แพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศช่วยบริหารจัดการทะเลและชายฝั่งของไทย” หรือ Marine GI Portal Platform ในรูปแบบโอเพ่นแพลตฟอร์ม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการนำข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลโดยเฉพาะ 

ทั้งการจัดหา รวบรวม วิเคราะห์และจัดทำคลังข้อมูลด้านทรัพยากรด้านทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ

อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคการศึกษา เป็นต้น

จิสด้าส่ง “Marine GI” หนุนเศรษฐกิจทะเลไทย

เครื่องมือดูแลทะเลและชายฝั่ง

ระบบดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น

  1. คลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง
  2. เครื่องมือการวิเคราะห์ความขัดแย้งการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ทางทะเล
  3. เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพป่าชายเลนแบบอัตโนมัติ
  4. เครื่องมือวิเคราะห์การรั่วไหลของคราบน้ำมันในทะเล

การเข้าใช้งานของแพลตฟอร์มจะมีอัลกอรึธึมที่ง่าย สะดวก สามารถบอกข้อมูลเป็นอินโฟกราฟิกที่ชัดเจน มีฐานข้อมูล และสามารถนำเข้าไฟล์ทั้งเอกสาร แผนที่ บทความ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบ

เช่น ข้อมูลจากสถานีเรดาร์ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 24 สถานี ข้อมูลคุณภาพน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้ผู้ใช้ระบบสามารถทราบข้อมูลได้อย่างละเอียด ทั้งยังอัปเดตข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ 

Marine GI Portal นำไปใช้งานในหลายด้าน หลายภูมิภาค อาทิ เบื้องต้นใช้ในงานสำรวจอนุรักษ์ เช่น วาฬและโลมา จ.สุราษฎร์ธานี  พบว่ามีอยู่ทั้งหมด 145 จุดของทะเลฝั่งอ่าวไทย วาฬที่พบมากที่สุดคือ วาฬบูรด้า และโลมาหลังโหนก การมีอยู่ประชากรวาฬสามารถบอกได้ว่า ทะเลในย่านนั้นมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่ 

จิสด้าส่ง “Marine GI” หนุนเศรษฐกิจทะเลไทย

วิเคราะห์คราบน้ำมันในทะเล

นอกจากนี้ก็ได้นำเครื่องมือวิเคราะห์การรั่วไหลของคราบน้ำมันในทะเล หรือ GNOME โดยบูรณาการร่วมกับ Remote Sensing หรือ “การรับรู้จากระยะไกล” เป็นการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ พื้นที่ และปรากฏการณ์บนพื้นโลกจากเครื่องรับรู้ (Sensor) โดยปราศจากการเข้าไปสัมผัสวัตถุเป้าหมาย ทำให้ทราบถึงแนวโน้มเส้นทางการเคลื่อนตัว หรือการแปรสภาพของคราบน้ำมัน

วัชระ เกษเดช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การใช้แบบจำลอง GNOME สำหรับคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล ร่วมกับการวิเคราะห์ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยการพัฒนากระบวนการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ จะสามารถประเมินความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางป้องกันและรับมือได้อย่างทันท่วงที

รวมไปถึงสามารถใช้เป็นต้นแบบหรือเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนการจัดการ แผนเผชิญเหตุ แผนการเก็บกู้คราบน้ำมัน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการจัดการด้านมลพิษทางทะเลประเภทอื่น ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการในสถานการณ์การจริง กรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล

Marine GI Portal จึงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพร่วมกับระบบฐานข้อมูลทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้สามารถรองรับภารกิจตามแผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด