สวทช. เปิดบ้าน ‘NAC2023’ โชว์เทคโนฯ ขับเคลื่อนธุรกิจ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดงาน NAC2023 ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 28 -31 มี.ค. 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศขับเคลื่อนประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model
ซึ่ง สวทช. จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 โดยปีนี้จัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบ ทั้งกิจกรรมสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ กิจกรรมเยี่ยมชม กิจกรรมนำเสนอเชิงธุรกิจ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน
พร้อมกันนี้ ได้ตั้งเป้าให้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของบุคลากรวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 การขับเคลื่อน และ 4 การส่งเสริม
ประกอบด้วย การพัฒนาตามสาขายุทธศาสตร์ ได้แก่
- เกษตรอาหาร
- สุขภาพการแพทย์
- พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ
- ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า และการเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ
ส่วน 4 การส่งเสริม ประกอบด้วย
- การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก
- การยกระดับความสามารถของกำลังคน
- การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ
- การปรับกฎหมาย กฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนา BCG Economy model
โดยภายในการมีนวัตกรรมมาโชว์มากมาย ประกอบไปด้วย
- โครงการภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science
เป็นโครงการด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ High Performance Computer (HPC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของประเทศ
และสนับสนุนความร่วมมือด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงระหว่างประเทศไทยและเซิร์น เพื่อยกระดับงานวิจัยของประเทศไทยให้ทัดเทียมงานวิจัยระดับนานาชาติ
- NSTDA core business
แสดงผลงานความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มุ่งขับเคลื่อนในยุค NSTDA 6.0 ซึ่งในปี พ.ศ.2566 สวทช. เปิดกลยุทธ์ นำพลังวิจัย รับใช้สังคม และได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
- Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง
- Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล
- FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service
- Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย
- นิทรรศการ BCG Economy Model
ทั้ง 4 สาขา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร เช่น นวัตกรรมสเปรย์เติมความ “สด” ให้พืช ซึ่งนักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาสเปรย์ทำความเย็นอัดแก๊สแรงดันสูงที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากธรรมชาติ
รวมถึงธาตุอาหารเสริมและรองที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในของพืช ลดการคายน้ำจากอากาศร้อน ช่วยให้พืชสดชื่น ไม่เหี่ยวเฉา ตอบความต้องการธุรกิจไม้ดอก ไม้ประดับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้เมืองหนาวราคาสูงที่นำมาปลูกในประเทศไทย
ด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว
และด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Sontana สนทนา (AI Chatbot) ซึ่งล้วนเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
- นิทรรศการ วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิต
ได้แก่ การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนแบบ Area based ในลักษณะกลุ่มสินค้าของ BCG สาขาเกษตร มีเป้าหมายเพื่อ ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง
- นิทรรศการระบบบริการโดย สวทช.
เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในขุมพลังหลักของ สวทช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด
- ผลงานวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี
ผ่านการแสดงผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทย อาทิ ระบบให้แสงเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงอาหารโภชนาการสูงสำหรับสัตว์น้ำ ในระบบปิดและกึ่งปิด (SUN-ZOOM for Eco-Plankton Culture Plant) และระบบควบคุมการยกยอและบันทึกภาพถ่ายโดยอัตโนมัติ และระบบให้อาหารอัตโนมัติสำหรับการเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงาน ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน 53 หัวข้อ และการจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ 72 ผลงานใน 6 โซน เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ nstda.or.th และร่วมกิจกรรมภายในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย