ฝุ่นพิษ ทำไมถึงเอาไม่อยู่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา คนภาคเหนือเสมือนตกอยู่ในเหวนรกที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ บางจังหวัดฝุ่นพิษสูงกว่า 300 USAQI แม้จะหลบอยู่ในบ้านและเปิดเครื่องฟอกอากาศสองเครื่องแล้วก็ยังไม่สามารถฟอกอากาศให้ได้ตามมาตรฐานไทย (ที่ต่ำกว่าสากล)
สถานการณ์ฝุ่นพิษในปีนี้ไม่ใช่ปีแรก แต่เป็นอย่างนี้มากว่า 10 ปีแล้ว และนับวันก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ชาวเหนือปรับทุกข์กันว่าชีวิตของพวกเราไม่มีคุณค่าเท่ากับชีวิตของคนกรุงเทพฯ เพราะถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ เจอฝุ่นพิษขนาดนี้ รัฐบาลต้องลุกขึ้นมาทำอะไรหลายอย่างไปแล้ว
เช่น ประกาศให้เวิร์กฟรอมโฮม หรือประกาศอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าของประชาชน ควบคุมการจราจร จัดการฝุ่นจากไซต์โรงงาน
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ฝุ่นพิษทำให้ความเหลื่อมล้ำเห็นชัดเจนขึ้น คนที่มีเงินก็สามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศหรือพาลูกพาหลานไปพักร้อนที่จังหวัดอื่น แต่คนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยก็ต้องยอมให้ปอดพังไป
ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลที่ดีมากและทำโดยฝ่ายรัฐบาลให้ผู้อ่านได้รับทราบทั่วกันคือ รายงานสถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผาในที่โล่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านระหว่างปี 2562-2564 โดยคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจ
เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลเช่นนี้แสดงว่ารัฐบาลได้เห็นข้อมูลทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 และสามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปีนี้ ขออนุญาตสรุปรายงานฉบับนี้และเพิ่มเติมความคิดเห็นของผู้เขียน (ที่เป็นตัวเอน) จะได้เข้าใจว่าทำไมเราถึงไปไม่ถึงไหนสักทีในเรื่องฝุ่นพิษ
1) หน่วยงานของรัฐไม่มีชุดข้อมูลกลางที่ใช้ร่วมกัน แต่มีชุดข้อมูลที่ต่างคนต่างทำตาม ขอบเขตความรับผิดชอบที่ต่างกันและพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีการจำแนกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถประมวลผลร่วมกันได้
ส่งผลให้สถานการณ์เผาในที่โล่งของประเทศไทยอยู่ในภาวะที่กำกวมและสับสน ทำให้การแก้ปัญหาเหมือนกิ้งกือในเขาวงกต
2) รัฐบาลใช้ข้อมูลจุดความร้อนซึ่งเป็นข้อมูลเพื่อเผชิญเหตุในแต่ละปี เมื่อเหตุการณ์ซาลงก็เอาแฟ้มเข้าตู้เอกสาร เพราะเมื่อปัญหาเฉพาะหน้าจบก็ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ไม่จำเป็นต้องศึกษาถึงสาเหตุที่มาและพฤติกรรมการเผา
จึงไม่มีการวิเคราะห์เชิงลึกถึงพฤติกรรมการเผา ว่าเป็นการเผาในพื้นที่ประเภทใด เช่น เป็นพื้นที่ที่เหมาะหรือไม่เหมาะสมกับการเกษตร หรือเป็นการเผาที่กระจายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ หรือเป็นการเผาซ้ำซากเพื่อการเกษตร
ในวงวิชาการก็มี ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี ที่เคยศึกษาการเผาไหม้ซ้ำซากในภาคเหนือตอนบน สามารถระบุสถานที่และเวลาของการเผาได้อย่างชัดเจน พอที่จะสามารถนำไปดำเนินงานระดับพื้นที่ได้
การศึกษาของสำนักบริหารนโยบายฯ ได้ยืนยันว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่เผาซ้ำซากขนาดใหญ่เกินกว่า 100,000 ไร่ อยู่ 4 กลุ่มพื้นที่ด้วยกันคือ
- แม่ปิง อมก๋อย แม่ตื่น ที่เป็นพื้นที่เผาไหม้เฉลี่ยซ้ำซากถึงประมาณ 500,000 ไร่ทุกปี
- พื้นที่สาละวิน แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่เผาเฉลี่ยกว่า 500,000 ไร่เหมือนกัน
- พื้นที่ลุ่มแม่น้ำปาย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ปาย มีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากอยู่ 300,000 ไร่
- พื้นที่เหนือสุดของกาญจนบุรีที่เขื่อนศรีนครินทร์ มีการเผาซ้ำซากอยู่กว่า 160,000 ไร่
เมื่อรู้ถึงพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากแล้ว ก็น่าจะสามารถลงไปพิสูจน์ให้รู้ในเชิงลึกว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไร เคยมีการใช้งบประมาณไปเพื่อทำแนวกันไฟไหม้ หรือใช้งบประมาณในพื้นที่เหล่านี้เท่าไร การบริหารแบบปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซากมากว่า 10 ปีเป็นการบริหารแบบนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ
3) คณะทำงานดังกล่าวได้วิเคราะห์พื้นที่เผาซ้ำซากรวมทั้งสิ้น 9.7 ล้านไร่ พบว่าเป็นการเผาพื้นที่ในป่าถึงร้อยละ 65 เป็นนาข้าวร้อยละ 22 เป็นข้าวโพดเพียงร้อยละ 6 และเกษตรกรรมอื่นๆ ร้อยละ 3 ส่วนไร่อ้อยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2
4) คณะทำงานพบว่า หน่วยราชการรายงานข้อมูลจุดความร้อนสะสม ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างเวลาที่เกิดกับตำแหน่งที่ชัดเจนในพื้นที่ จึงไม่เห็นการเคลื่อนที่ของแนวไฟแต่ละกองในเวลาต่างๆ
ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบที่สำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาไฟป่า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการในเชิงรุกเพื่อป้องกันต้นเหตุการเผาได้อย่างเต็มที่
5) สำหรับสภาพการเผาในที่โล่ง พบว่า ต้นตอใหญ่ของมลพิษทางอากาศของภาคเกษตรมาจากข้าว ซึ่งอยู่ในภาคกลางและภาคอีสาน โดยข้าวมีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากมากกว่าอ้อยถึง 12 เท่า มีน้ำหนักเชื้อเพลิงรวมกันมากกว่าอ้อยถึง 5 เท่า ส่วนข้าวโพดมีสัดส่วนการเผาซ้ำซากเพียงร้อยละ 6 (แต่จะเป็นจำเลยในเรื่องฝุ่นพิษควันข้ามแดน)
6) คณะทำงานพบว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า ประเทศไทยได้รับฝุ่นพิษข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มในการเผาไร่ข้าวโพดในพื้นที่ลาวเหนืออย่างก้าวกระโดด ตามตะเข็บชายแดนไทย-ลาวที่แขวงไชยะบุรี และการเผาในเมียนมาบริเวณแม่น้ำสาละวินตลอดตะเข็บชายแดน
- คณะทำงานได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดีและรอบด้าน ซึ่งผู้เขียนขอยืมมาเป็นบางข้อเพื่อมาเพิ่มเติมในบางประเด็น ได้แก่
1. ให้ GISTDA บูรณาการข้อมูลทั้งหมดและจัดทำแผนที่ลงไปถึงระดับตำบลและระดับแปลง ระบุขอบเขตอุทยานและป่าสงวนเพื่อให้ใช้งานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อความโปร่งใส สามารถยืนยันแหล่งกำเนิดเพื่อการแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรม
2. จัดการพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากให้เป็นโครงการต้นแบบชีวิตวิถีใหม่ที่ปลอดการเผา โดยให้มีเจ้าภาพที่เป็นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย
3. กำหนดพื้นที่นำร่องที่เป็นพื้นที่นาข้าวที่เผาซ้ำซากเป็นพื้นที่ทดลองต้นแบบให้หน่วยราชการต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกัน
เช่น ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้ฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์ หรือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม สนับสนุนค่าใช้จ่ายเครื่องจักรการเกษตรให้ใช้แทนการเผา เป็นต้น
4. ห้ามนำเข้าข้าวโพดจากพื้นที่ที่มีการเผา และนำเข้าข้าวโพดเสรีจากประเทศที่ปลอดการเผา
5. หน่วยราชการในพื้นที่ต้นแบบต้องทำงานร่วมกันและมีตัวชี้วัดการดำเนินการร่วมกัน
นี่ก็ใกล้จะเลือกตั้งแล้ว โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนทนไม่ไหวแล้วกับรัฐที่จัดการปัญหาไม่ได้!!