เจาะลึก ‘บ้านปางสา’ จ.เชียงราย ต้นแบบหมู่บ้านรู้ใช้ ‘จีไอเอส’
“บ้านปางสา” หมู่บ้านชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ต้นแบบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศตอบโจทย์ข้อพิพาทการใช้ที่ดินของชาวบ้าน โดยมี GISTDA เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง
จิสด้าเปิดโอกาสชุมชนเข้าถึงข้อมูลแผนที่ ซึ่งเดิมจำกัดเฉพาะหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทั้งยังจัดทำข้อมูลแผนที่ด้วยชุมชนเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานในพื้นที่ทั้งระดับท้องถิ่นและจังหวัด
ที่สำคัญชาวบ้านปางสาและชาวชุมชนป่าตึง สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาพื้นที่สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการให้เข้ากับสถานการณ์ได้
ล่าสุดเดินหน้าต่อยอดข้อมูลสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโป่งขม ซึ่งอยู่ในเขตป่าตึง ตรวจวัดได้ 4.6 หมื่นตันต่อไร่
ผลสำเร็จข้างต้นเป็นหนึ่งในภารกิจการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการวางแผนพัฒนาชุมชนโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
เป้าหมายเพื่อยกระดับคนท้องถิ่นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่
เสริมแกร่งชุมชนแก้รุกป่า
ชุมชนบ้านปางสามีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ประสบปัญหาความไม่ชัดเจนของเขตแนวพื้นที่เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งชาวบ้านที่ทำกินกันมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่
กระทั่งรัฐบาลประกาศบังคับใช้ คำสั่งคสช.ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า จึงเป็นชนวนปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า
ชัชวาล หลียา ชาวบ้านปางสาและนักภูมิสารสนเทศชุมชน กล่าวว่า ชุมชนไม่มีบันทึกพิกัดของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ไม่รู้ขอบเขตของหมู่บ้าน ไม่รู้ว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตและเป็นประเภทใด กระทั่งปี 2558 มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมจากจิสด้าในเรื่องเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
จึงนำมาสู่การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบพิกัดทางภูมิศาสตร์และพื้นที่ป่าไม้ จัดทำแผนที่ร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน ข้อมูลนี้ชุมชนสามารถนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การที่จิสด้าเข้ามาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี ทำให้เรารู้ว่า พวกเราคือใคร พื้นที่ตรงไหนที่ควรหรือไม่ควรเข้าไป เราหารายได้จากการเก็บของป่า เก็บผักและผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องการที่จะไปรุกล้ำหรือทำลายของป่า
เพราะเราอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานก่อนที่จะมีการจัดระเบียบการรับรองที่ดินช่วงปี 2545-2557 กลายมาเป็นเงื่อนไขที่ให้คนในหมู่บ้านต้องยืนยันสถานภาพ"
นอกจากนี้ในแต่ละปีได้อัปเดตข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม ให้ผู้นำหมู่บ้านมาเปรียบเทียบและตัดสินเพื่อลดปัญหาการแก่งแย่งพื้นที่เป้าหมาย
การนำภาพสามมิติมาประกอบข้อมูลจากการสำรวจของทีมงานและชาวบ้าน ทำให้ทราบว่า พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าสงวน รวมทั้งพื้นที่สำรวจการจัดทำคาร์บอนเครดิต
“เราได้เสนอข้อเรียกร้องแก่ทางภาครัฐ ให้ช่วยผลักดันและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกว่า 10 ล้านคนมีพื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกต้อง เพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่นี้แบบไม่ถูกกฎหมายมานาน ไม่เคยได้รับการดูแลใดๆ จากภาครัฐ สิ่งที่ต้องการคืออยากมีอาชีพที่มั่นคง มีความสุข และไม่โดนผลักดันออกจากพื้นที่ทำกินที่อยู่กันมานาน” ชัชวาล กล่าว
เชื่อมต่อเครื่องมือกับปัญหา
มิ่งขวัญ กันธา นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ จิสด้า เป็นผู้ที่นำเทคโนโลยีดาวเทียมเข้าสู่ชุมชน โดยย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งจะต้องลงพื้นที่ไปตามท้องถิ่นห่างไกลต่างๆ ซึ่งรวมถึงบ้านปางสา
จึงทำให้รับทราบปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้าน กระทั่งย้ายมาทำงานที่จิสด้า จึงพบว่ามีเครื่องมือจากเทคโนโลยีอวกาศ ข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องมือภูมิสารสนเทศ ที่จะเป็นทางออกให้กับชาวชุมชน
“เราจัดทำหลักสูตรพัฒนานักภูมิสารสนเทศชุมชน โดยคัดเลือกตัวแทนชุมชนเข้ารับการอบรมแล้วนำข้อมูลความรู้ไปถ่ายทอดและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งนี้ บ้านปางสาถือเป็นหนึ่งในผลผลิตจากหลักสูตรดังกล่าว แต่คีย์ความสำเร็จที่แท้จริงคือ ความร่วมมือของสมาชิกในชุมชนและความตั้งใจจริงของผู้นำชุมชน”
ปัจจุบันชาวบ้านปางสาเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ หันมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาว สวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ร่วมกับการฟื้นฟูป่าชุมชน ที่ตอนนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้แล้ว และรอการประกาศพื้นที่ในส่วนอุทยานแห่งชาติลำน้ำกกเพิ่มเติม
หวังคนรุ่นใหม่สานต่อข้อมูล
ตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ชาวบ้านมีเพียงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ GPS บอกพิกัด ก็สามารถตรวจวัดพื้นที่แม้จะมีความผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อนำข้อมูลดาวเทียมมาร่วมด้วยก็จะได้ความละเอียดมากขึ้น
“สิ่งที่เราทำเป็นการสะสมข้อมูลเพื่อนำไปขยายผลเชิงวิเคราะห์ศักยภาพของทรัพยากรดิน น้ำและป่า แม้ชาวบ้านยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีด้าน Hotspot มาใช้ร่วมกับ GPS เพื่อทับซ้อนข้อมูล
แต่เชื่อว่าการที่มีข้อมูลของจิสด้าส่งเข้ามาทุกวัน และเสริมกับข้อมูลของชุมชนร่วมกัน จะทำให้มีชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ปัญหาได้ดีกว่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จิสด้าคาดหวังคือ อยากให้มีคนรุ่นใหม่นำเอาข้อมูลที่จิสด้ามีไปใช้พัฒนา สร้างความรู้และโอกาสใหม่ๆ หรือสร้างรายได้แล้วนำเงินกลับไปช่วยพัฒนาชุมชนบ้าง เพราะปัญหาของจิสด้าไม่ใช่เรื่องเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่คือการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด.