จับตา ‘ดีล’ เฮลท์เทค | ต้องหทัย กุวานนท์
กระแสการลงทุนในสตาร์ตอัปสายเฮลท์เทคในอาเซียนกำลังกลับมาคึกคัก เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา Halodoc แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพออนไลน์ของอินโดนีเซียได้ปิดดีลระดมทุนรอบซีรีส์ D ด้วยมูลค่ากว่าร้อยล้านดอลลาร์
นำโดย Astra International ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนที่มีมูลค่าธุรกิจเทียบได้กับยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานอย่าง ปตท. ในบ้านเรา
Astra International มีธุรกิจครอบคลุมหลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องจักร ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจไฟแนนซ์และธุรกิจไอที การลงทุนใน Halodoc ในรอบนี้จะทำให้ Astra International มีสัดส่วนหุ้นในธุรกิจเฮลท์เทครายนี้ถึงกว่า 20% ซึ่งนั่นหมายถึงการได้อำนาจในการกำหนดอนาคตและทิศทางธุรกิจ
การลงทุนในธุรกิจเฮลท์เทคโดยองค์กรที่อยู่นอกอุตสาหกรรม กำลังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นทางการลงทุน องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยอย่าง ปตท. พีทีจี เอ็นเนอยี ธนาคารกรุงเทพ อินทัช เอสซีจี ต่างก็มีสตาร์ตอัปสายเฮลท์เทคติดไว้ในพอร์ตการลงทุน ในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไป
ในต่างประเทศเองก็กำลังมีข่าวลือเรื่องการซื้อกิจการกลุ่มธุรกิจเฮลท์เทคขององค์กรยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon มีทีท่าว่าจะเข้าซื้อ Teladoc Health ผู้เล่นสำคัญในการให้บริการด้านดิจิทัลเฮลท์ และ Microsoft มีแนวโน้มที่จะซื้อกิจการ Epic systems ผู้นำเทคโนโลยีเวชระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์
เทรนด์การเติบโตของธุรกิจเฮลท์เทคพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงปี 2564 ด้วยมูลค่าการลงทุนถึงหมื่นล้านดอลลาร์ และดิ่งสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยมูลค่าการลงทุนลดลงเหลือ 3 พันกว่าล้านดอลลาร์
ปี 2566 เป็นปีที่นักวิเคราะห์การลงทุนมองว่า เม็ดเงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจเฮลท์เทคหลายกลุ่มน่าจะกลับมาในรูปแบบที่จำนวนดีลน้อยลง แต่เป็นการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Telehealth ที่เพียงแค่เริ่มต้นปีก็มีดีลใหญ่เกิดขึ้น
เช่น Amazon เข้าซื้อกิจการ One Medical ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพระบบออนไลน์ที่ให้บริการกับเครือข่ายองค์กรกว่า 8,000 แห่ง
สำหรับตลาดอาเซียนเองนอกจาก Halodoc ก็ยังมีผู้เล่นรายอื่นในกลุ่ม Telehealth อย่าง Alodoxter ในอินโดนีเซียที่เพิ่งรับเงินลงทุนรอบซีรีส์ C จาก มารูเบนิ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น
ส่วน Doctor Anywhere ผู้นำแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพดิจิทัลจากสิงคโปร์ก็เพิ่งได้รับการรางวัลบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในสิงคโปร์ถึงแม้ผลประกอบการจะยังติดลบ เพราะลงทุนจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีด้วยเม็ดเงินที่สูงมาก
สำหรับในไทยเอง กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล BDMS ก็เข้าลงทุนในรอบซีรีส์ A กับ Ooca แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
กระแสการลงทุนในธุรกิจ Telehealth ขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมน่าจะยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ หลายประเทศในอาเซียนยังคงมีปัญหาเรื่องจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ในสัดส่วน 1:1000
สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ไปคือ องค์กรธุรกิจที่มีฐานลูกค้าระดับแมสรายไหนที่จะเดินหน้าเข้ามาช่วงชิงตลาด Telehealth ที่กำลังก้าวสู่ธุรกิจกระแสหลักในไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า และองค์กรเหล่านั้นจะใช้กลยุทธ์แบบไหนที่จะทำให้เข้าตลาดได้แบบรวดเร็วและรวบรัดที่สุด