Oactive แพลตฟอร์มที่หนุนผู้สูงอายุให้มีงานทำ ส่งต่อพลังบวกสู่สังคม
สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) หนุนแพลตฟอร์ม O active เพื่อเป็นแหล่งรวมงานอิสระและกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย พร้อมจับมือรพ.รามาธิบดี สร้างองค์ความรู้ด้านการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ สู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เครือข่ายภูมิภาค
“O active” กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งรวมงานอิสระและกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย ส่งเสริมกิจกรรมส่งต่อความรู้ เป็นโครงการพัฒนาดิจิทัลเตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลและไร้งานทำเป็นจำนวนมาก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาโครงการ ควบคู่กับความร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี สร้างองค์ความรู้ด้านการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ สู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เครือข่ายภูมิภาค เพื่อยกระดับผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ศูนย์รวมงานอิสระของสูงวัย
แพลตฟอร์มโอแอคทีฟ (Oactive) เป็นโครงการที่มีความตั้งใจการส่งเสริมอาชีพของผู้สูงวัย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดรายได้เมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ และขยายเวลาและโอกาสในการทำงาน แบ่งเบาภาระสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงวัยและคนรอบข้าง ลดโอกาสการเป็นโรคสมองเสื่อมและปัญหาทางสุขภาพต่างๆ
โดยผ่านทางสื่อกลางคือ แพลตฟอร์มที่มีพื้นที่เชื่อมระหว่างผู้หางานและผู้จ้างงาน (Job Matching) ในการลงประกาศงาน หางานพาร์ตไทม์ตามความสนใจและความถนัด โดยไม่มีค่าบริการใดๆ ของการเข้าใช้แพลตฟอร์ม
ภายในแพลตฟอร์มจะมีพื้นที่ของศูนย์ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ (Upskill & Reskill) มีบทความที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิต มีห้องแสดงผลงาน และ กระดานสนทนาสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เช่น การพูดคุยกับกูรูในหัวข้อสูงวัยอย่างไร ห่างไกลโรคสมองเสื่อม, วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ให้มีใช้ไม่ขัดสน ตลอดจนการกินอาหารให้เป็นยาและโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมดำเนินการโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
การทำงานของแพลตฟอร์ม
ฟังก์ชันของแพลตฟอร์มมีทั้งรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยเปิดให้ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ iOS การใช้งานจะเอื้อให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มีฟังก์ชันปรับตัวอักษรใหญ่เล็กเพื่อความสะดวกของผู้ใช้งาน
หมวดหมู่การจัดหางานจะแบ่งออกเป็น งานฝีมือ งานให้คำปรึกษา งานช่าง ช่างปูน ช่างไม้ และงานรับจ้างทั่วไป ในส่วนของตรงนี้จะมีนายจ้างเข้ามาลงประกาศหางานและบอกรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าใช้งานสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับตนเองได้
สุมิตรา วงภักดี บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มโอแอคทีฟ กล่าวว่า หลังจากการเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม พบว่า ผู้สูงวัยที่ยังทำงานมีความภาคภูมิใจจากการสร้างรายได้ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่เป็นภาระ และยังสามารถช่วยเหลือสังคม อีกทั้งสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่นได้
นอกจากนี้ ตัวแพลตฟอร์มยังมีฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีร่างกายที่แข็งแรง มีการฝึกฝนพัฒนาสมอง แต่อย่างไรก็ตามงานที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ จะต้องไม่ใช่งานหนักเกินไป ไม่ต้องทำเป็นประจำ จำนวนชั่วโมงในการทำน้อย เน้นงานที่ทำแล้วมีความสุข สามารถพบปะผู้คน
“ข้อสำคัญคือ ควรมีการขยายช่วงอายุการชราภาพ ปรับค่าจ้างรายชั่วโมงให้สูงขึ้น และเพิ่มสวัสดิการ การคุ้มครองผู้สูงวัยให้ต่อเนื่อง และส่งเสริมความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนในการจ้างผู้สูงวัยเข้าทำงาน” สุมิตรา แสดงทัศนะ
นักบริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ
วช. และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การนำหลักสูตรการอบรมด้านการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ สู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง” เพื่อมุ่งยกระดับการดูแลและบริบาลผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี
การพัฒนาศักยภาพชุมชนวิสาหกิจด้านการบริบาลผู้สูงอายุ มีแนวคิดมาจาก “การนำผู้สูงอายุกลับบ้าน” โดยช่วยกันสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุวิถีไทย ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในชุมชนท่ามกลางครอบครัว ญาติมิตรและเพื่อนบ้าน เป็นพลังสร้างสรรค์ของชุมชน มีระบบดูแลยามเวลาไม่ป่วยไข้ และมีระบบส่งต่อสู่สถานพยาบาลยามเจ็บป่วย
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงร่วมกันสร้าง “นักบริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ” ที่ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ สามารถรวมกลุ่มกันทำงาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชนที่อยู่ได้อย่างเข้มแข็ง
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งต่อองค์ความรู้เพื่อขยายผลการอบรมและการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้เริ่มที่ภาคกลางเป็นที่แรก
ประชาชนผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจะได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากผลงานวิจัยมาดูแลและสร้างบุคลากร รวมไปถึงการประสานให้มีการนำหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุไปประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะในระดับชุมชนในภูมิภาคอีกด้วย
“วช. ต้องการผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพื่อนำไปใช้ในแก้ไขปัญหา พัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิต ระดับพื้นที่ชุมชน-สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ม.มหิดลจะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาในเชิงพื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าว