THEOS-2 ดาวเทียมฝีมือไทย พร้อมทะยานสู่อวกาศ 7 ต.ค. 66 นี้
GISTDA เตรียมส่ง THEOS-2 ดาวเทียมถ่ายภาพละเอียดสูงของไทย ขึ้นสู่อวกาศ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 8.36 น. ณ ท่าอวกาศยานเกียนา (Guiana Space Center) ประเทศฝรั่งเศส
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ฤกษ์ส่งดาวเทียม “ธีออส-2” (THEOS-2) ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ต.ค. 2566 เวลา 8.36 น. ณ ท่าอวกาศยานเกียนา (Guiana Space Center) ฝรั่งเศส
จากนั้นจะใช้เวลาอีก 5-7 วันในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนที่จะทดสอบระบบต่างๆ ก่อนเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2560 มีมติอนุมัติโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงิน 7,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 เพื่อทดแทนดาวเทียมธีออส-1 หรือดาวเทียมไทยโชต ซึ่งควรจะหมดอายุการใช้งานตั้งแต่ 2556 แต่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีกระทั่งใช้งานได้จนถึงทุกวันนี้
ธีออส-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การนำข้อมูลจากดาวเทียม ธีออส-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดทำแผนที่ เนื่องจากธีออส-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึงมาตราส่วน 1: 1000
การจัดการเกษตรและอาหาร
ธีออส-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด
ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร
การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม
ข้อมูลจากดาวเทียม ธีออส-2 นั้นสามารถใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และด้วยที่ธีออส-2 เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร จึงสามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น การบริหารจัดการน้ำทุ่งและการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม
การจัดการภัยธรรมชาติ
ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที หรือเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การจัดการเมือง
โดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การเดินทาง และแหล่งทรัพยากรน้ำ
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ข้อมูลจากดาวเทียม ธีออส-2 ทำให้เรามองเห็นสภาพของปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การบริหารจัดการป่าชุมชนและใช้ติดตามการดูดซับและปลดปล่อยคาร์บอน
โดยจะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการตรวจวัดและประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็วและแม่นยำ
“การที่ประเทศไทยมีดาวเทียมธีออส-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ “เศรษฐกิจ” คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
ขณะที่มุมมองภาคเอกชน กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงาน Corporate stategy and Innovation ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน กล่าวอ้างอิงรายงานจาก Bloomberg ระบุถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการบิน (space economy) ปีที่แล้วอยู่ที่ 5.6 แสนล้านดอลลาร์
ในส่วนของภาพถ่ายจากดาวเทียมมีการซื้อขายอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถเติบโตได้ไปอีกประมาณเท่าตัว หรือคิดเป็น 8%-10% ต่อปี ดังนั้น ทิศทางของอุตสาหกรรมอวกาศจะมีขนาดใหญ่มากขึ้น
"ธนาคารมีกลุ่มลูกค้าบางส่วนในอุตสาหกรรมการบิน ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่แถว EEC โดยเมืองไทยมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านอวกาศประมาณ 1 พันรายซึ่งได้ทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงมองว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะในปัจจุบันมีหลายสิ่งใกล้ตัวเราที่เกิดจากอุตสาหกรรมอวกาศ ผมเชื่อว่าในไทยหากมีการพัฒนาเรื่องวัสดุศาสตร์มากขึ้นก็จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย
สำหรับภาคธนาคาร การมีข้อมูลจากดาวเทียม เช่น ข้อมูลภัยพิบัติ สามารถนำไปช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการกู้เกินได้ตรงจุด ว่าส่วนไหนที่ประสบกับภัยพิบัติจริงๆ อย่างเช่น การปรับโครงสร้างของหนี้
ช่วยเรื่องของการประเมินทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็สามารถประเมินได้อย่างเหมาะสม ทำให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้น สามารถนำไปทำเป็นรายงานเพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนไปจะทำให้บางอุตสาหกรรมนั้นมีความเสี่ยงสูงขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร
นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนของข้อมูล ESG ที่มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น โครงการปลูกป่า นอกจากจะได้ไม้ ได้ป่า ยังสามารถได้คาร์บอนเครดิต เพราะหากเราปลูกป่าหลักแสนหรือหลักหมื่นไร่ก็ต้องมีการมอนิเตอร์ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อดูสภาพแวดล้อมทั้งหมด อาทิ ป่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คาร์บอนเครดิตยังได้เท่าเดิมไหม ซึ่งเทคโนโลยีจะสามาระช่วยลดต้นทุนและลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น"
สอดคล้องกับ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แสดงทัศนะในประเด็นความยั่งยืนไว้ว่า หัวใจหลักสำคัญ คือ องค์ประกอบเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่แม่นยำ รู้จริง วัดผลได้ และละเอียดอ่อนขึ้น
ดังฟังก์ชันของธีออส-2 ที่ถูกปรับปรุงให้ถ่ายภาพได้ใกล้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์และประเมินกับสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศหรือรอบๆ ประเทศได้
"ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ประมาณ 55% ภายใน 15 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราจะต้องปลูกป่าราว 5 ล้านไร่ไปอีก 15 ปี ซึ่งดาวเทียมจะเข้ามาช่วยเรื่องของการมอนิเตอร์ การจัดการพื้นที่ป่า การมองเห็นภาพรวมและรายละเอียดเชิงลึกว่าป่าตรงไหนหายไป
เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น ไฟไหม้ป่า ก็สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และสามารถวิเคราะห์รายเอียดลงไปเชิงลึกได้อีก เช่น จะมีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นอีกไหม หรือมันสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อีกไหม นี่จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก"
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การนำส่งดาวเทียมธีออส-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
“ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียมธีออส-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ” รมว.อว.กล่าว