ปักหมุด Regional Tech Hub | ต้องหทัย กุวานนท์
หลายประเทศกำลังมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีนวัตกรรมแบบ “ลดกระจุก เร่งกระจาย” เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลสหรัฐประกาศรุกตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 31 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะลงทุนในแต่ละฮับนวัตกรรมกว่า 75 ล้านดอลลาร์
แต่ละเมืองที่มีเครือข่ายนวัตกรรมที่มีศักยภาพ จะถูกมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็น Deep Technology ในแต่ละเรื่องสำคัญๆ เช่น ชิคาโกเป็นศูนย์กลางด้าน Quantum Computing อินเดียนาโปลิสเป็นศูนย์กลางด้าน Biotech สโปเคนเป็นศูนย์การพัฒนาด้านวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศ
แนวความคิดการจัดตั้ง ศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะทางแบบกระจายออกไปในระดับภูมิภาค กำลังเป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาการสร้างเมืองหลวงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางคือ กลไกหลักที่จะขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้น
เช่น Silicon Valley ถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงทางด้านเทคโนโลยี ที่เป็นต้นแบบทำให้เกิดอุตสาหกรรมดิจิทัลในยุคปัจจุบัน และเป็นต้นกำเนิดของบริษัทบิ๊กเทคกลุ่ม FAMGA (Facebook, Amazon, Microsoft, Google, Apple) ในอุตสาหกรรมอื่นก็เช่นกัน
Cosmetic Valley ในฝรั่งเศสคือศูนย์กลางนวัตกรรมหลักของโลกสำหรับธุรกิจเครื่องสำอาง น้ำหอมและสกินแคร์ บริษัทชั้นนำอย่าง L'Oréal, LVMH, Estee Lauder และบริษัทระดับโลกอีกกว่า 200 แห่งต่างมีศูนย์พัฒนานวัตกรรมหรือแล็บวิจัยตั้งอยู่ที่นี่
ในฟากธุรกิจอาหาร Food Valley ในเนเธอร์แลนด์ถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านอาหารและการเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีศูนย์วิจัยกว่า 20 แห่งมีบริษัทกว่า 700 บริษัททั่วโลกที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน Agrifood เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต
ในประเทศไทยเราก็มีความพยายาม ที่จะสร้างคลัสเตอร์นวัตกรรมในภูมิภาคต่างๆ โดยคำนึงถึงฐานโครงสร้างเดิม เช่น ภาคตะวันออกกับพื้นที่ EEC ในด้านสมาร์ตเทคโนโลยี ภาคเหนือด้านการเกษตรและไบโอเทค ส่วนภาคใต้ในด้านอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์
การที่หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และบริษัทที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งกระจายศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
Deep Technology ในหลายสาขาที่เป็นเทคโนโลยีหลัก ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการในอนาคต ล้วนต้องการทาเลนท์จำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
การรวบรวมคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศรองรับที่เหมาะสม ถ้าวิเคราะห์คลัสเตอร์นวัตกรรมของ Silicon Valley, Cosmetic Valley, และ Food Valley เราจะได้บทสรุปว่าปัจจัยร่วมสำคัญที่จะทำให้เกิดนิคมนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแต่คือการเร่งสร้าง
- ความร่วมมือในระบบนิเวศที่เป็นสมการสำคัญในการกระตุ้นนวัตกรรมและการเติบโต
- โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นกลไกหลักในขยายกลุ่มธุรกิจใหม่และขับเคลื่อนนวัตกรรม
- การเข้าถึงทรัพยากรสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
- สร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนและปลุกกระตุ้นจิตวิญญาณผู้ประกอบการ สนับสนุนการรับความเสี่ยงและการลองผิดลองถูก
- การเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลิตผู้เชี่ยวชาญและเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนความรู้
บทเรียนสำคัญจากกลุ่มคลัสเตอร์นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของโลก ทำให้เราอาจต้องทบทวนว่าแท้จริงแล้ว หัวใจการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องพึ่งพาคนและเครือข่ายของคนในระบบนิเวศ มากกว่าการทุ่มลงทุนหลายพันล้านในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยคาดหวังว่าสิ่งนั้นจะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนเข้ามาในระบบนิเวศ