ญี่ปุ่นพัฒนา AI สร้างภาพจากจินตนาการของมนุษย์ได้ ‘คิดอะไรอยู่ รู้หมด’
นักวิทย์ฯ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนา ‘AI ถอดรหัสสมอง’ ทั้งความฝัน จินตนาการ ภาพหลอน ออกมาเป็นภาพวัตถุหรือทิวทัศน์ ประยุกต์ใช้กับผู้ที่สื่อสารไม่ได้ จุดความหวังใหม่ให้วงการแพทย์
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AI สามารถถอดรหัส “จินตนาการ” (Mental images) ภายในสมองของเราให้ออกมาเป็นภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชาติสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม ในมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้สำเร็จแล้ว
ทีมนักวิทย์ฯ ได้ทำการบันทึกคลื่นสมองของผู้ทดลองจากการเปิดรับอาสาสมัคร โดยให้พวกเขาจินตนาการถึงภาพต่างๆ จากนั้นจึงใช้ “เทคโนโลยีถอดรหัสจากสมอง” หรือ “Brain Decoding” เพื่อถอดรหัสคลื่นสมองเหล่านั้นออกมาเป็นภาพดิจิทัล
ผลการทดลอง พบว่า AI สามารถถอดรหัสภาพจากสมองของผู้ร่วมทดลองอาสาสมัครได้อย่างแม่นยำ โดยสามารถจำลองภาพวัตถุต่างๆ เช่น ภาพเสือดาวที่มีปาก มีหู ลายจุด รวมไปถึงภาพเครื่องบินที่มีแสงสีแดงบนปีกเครื่องบิน ซึ่งใกล้เคียงกับภาพที่พวกเขาจินตนาการไว้
เอไอสร้างภาพการรับรู้จากกิจกรรมทางสมอง สามารถใช้ได้ทั้งกับความฝัน ภาพหลอน มโนภาพ โดยใช้ MRI เข้ามาช่วย (MRI คือเครื่องมือในการตรวจหาความผิดปกติของร่างกายที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสร้างภาพทางการแพทย์)
ทั้งนี้ Brain Decoding ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อเอาไว้อ่านจิตใจของผู้คน แต่เป็นการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้คนด้านการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น การนำเอไอฟื้นฟูการสื่อสารและการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอัมพาต เพราะผู้ป่วยอัมพาตไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง เทคโนโลยีตัวนี้จึงสามารถถอดรหัสความคิดของผู้ป่วยออกมาเป็นภาษาได้
ตลอดจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช การรับรู้ทางสมองที่สร้างให้เห็นภาพหลอนต่างๆ ทำให้แพทย์สามารถวินิฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา ถึงแม้จะสำเร็จแล้ว แต่การทำงานของสมอง-จิตใจของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนยิ่งนัก แต่นับว่าเป็นก้าวครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในวงกว้างได้
อ้างอิง: japantoday interestingengineering