อะลูมิเนียม อุตฯ แรกของไทยที่มีฐานข้อมูลค่าคาร์บอนรองรับ CBAM

อะลูมิเนียม อุตฯ แรกของไทยที่มีฐานข้อมูลค่าคาร์บอนรองรับ CBAM

เอ็มเทค หนุนทำฐานข้อมูลรองรับมาตรการ CBAM ให้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - ผู้ประกอบการไทย โดยอะลูมิเนียมคืออุตสาหกรรมแรกที่ดำเนินการสำเร็จ ก่อนสหภาพยุโรปบังคับใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 2569

สหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) กับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.ซีเมนต์ 2.ไฟฟ้า 3.ปุ๋ย 4.เหล็ก-เหล็กกล้า 5.ไฮโดรเจน และ 6.อะลูมิเนียม ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางตรงและทางอ้อม

ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยวันที่ 1 ม.ค. 2569 จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ผู้นำเข้าต้องยื่นขอสถานะเป็น CBAM Declarant และผู้ประกอบการไทย (ผู้ส่งออก) ต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธ.ค. 2567 นี้

จึงทำให้เกิดเป็นวงเสวนา “มาตรการ CBAM ใครพร้อม ได้ไปต่อ ชวนปลดล็อก การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป หรือ EU มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อพูดคุยในประเด็นของ “อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของไทย” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแรกที่มีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM 

อะลูมิเนียม อุตฯ แรกของไทยที่มีฐานข้อมูลค่าคาร์บอนรองรับ CBAM

อะลูมิเนียม อุตสาหกรรมแรกที่รองรับ CBAM

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรก ใน 6 อุตสาหกรรม ที่สามารถดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM ได้สำเร็จ 

โดยได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดทำค่ากลางของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมตามกรอบ CBAM ซึ่งค่ากลางดังกล่าวครอบคลุมผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อบิลเล็ต, กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมหน้าตัด และกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่นม้วนภายในประเทศ เพื่อให้ได้ทราบถึงรายการสารขาเข้า และสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิตย่อยของบริษัทตนเอง 

“มาตรการ CBAM กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ถ้าเริ่มทำก็จะรู้ว่าเราต้องปรับอะไร และไม่ได้มองเฉพาะกลุ่มอะลูมิเนียมเท่านั้น แต่มองไปถึง Supply Chain อื่น ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลายทาง เช่น รถยนต์ ที่ใช้อะลูมิเนียมเป็นชิ้นส่วนประกอบ หากต้นน้ำสามารถผ่านมาตรการ CBAM ได้ดี ก็จะช่วยทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องพึ่งส่วนประกอบจากอะลูมิเนียม

เช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EV) ที่โตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าต้องการส่วนประกอบจากอะลูมิเนียมมากขึ้น ซึ่งจากเดิมรถยนต์อีวี ใช้อะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ 70 กิโลกรัมต่อคัน จะเพิ่มขึ้นการใช้เป็น 200-300 กิโลกรัมต่อคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าต่อคัน เป็นต้น”

อะลูมิเนียม อุตฯ แรกของไทยที่มีฐานข้อมูลค่าคาร์บอนรองรับ CBAM

คงมูลค่าส่งออก 4 พันล้านบาท-ลุ้นเพิ่มอัตราส่งออกจากคู่แข่งที่ไม่พร้อม 

นายธีรพันธุ์ กล่าวต่อว่า การที่กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมปรับตัวได้เร็วก่อน เป็นข้อได้เปรียบ เพราะทางทีมวิจัยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ไม่เพียงสนับสนุนเรื่องข้อมูลเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมองไปถึงการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้นอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม หลายอุตสาหกรรมยังกังวลและมอง CBAM เป็นอุปสรรค กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมกลับมองเป็นโอกาส เพราะในกรณีที่ประเทศไทยจะส่งออกไปที่สหภาพยุโรปเหมือนประเทศคู่แข่งอื่นๆ

หากประเทศไทยสามารถผ่านมาตรการ CBAM กับผู้ส่งออกในยุโรปได้สำเร็จ จะได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ที่อาจจะสู้ต้นทุนการลดค่าคาร์บอนตามข้อบังคับของ CBAM ไม่ไหว และอาจจะล้มเลิกการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับไทยก็เป็นได้ ซึ่งโอกาสจะกลับมาเป็นของไทยที่จะสามารถขยายอัตราการส่งออกสินค้าอลูมิเนียมได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

“ปี 2566 ไทยมีปริมาณการส่งออกอะลูมิเนียม อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านตัน มีตลาดส่งออกไปที่ยุโรปประมาณ 4-5 % หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท หากไทยยังปรับตัวไม่ได้กับมาตรการ CBAM นั่นหมายความว่าการส่งออก 5 % หรือมูลค่า 4,000 ล้านบาทจะหายไปในทันที ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เข้าสู่สถานการณ์ที่ CBAM เริ่มขยายการบังคับใช้ให้ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม”

แนะ 6 อุตสาหกรรมไทยเข้าข่ายมาตรการ CBAM เร่งปรับตัว

นายธีรพันธุ์ กล่าวว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมควรต้องเร่งศึกษามาตรฐานของกลุ่มอุตสาหกรรมของตนเองโดยด่วนตั้งแต่ตอนนี้ และต้องเร่งมือหาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับมาตรการ CBAM อย่างต่อเนื่องและพร้อมปรับตัวตลอดเวลา เพราะแม้กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเตรียมตัวมาล่วงหน้าแล้ว ก็เกือบจะตกขบวนการปรับตัวให้เข้ากับมาตรการดังกล่าว

โดยในช่วงปี 2567-2568 จะเป็นช่วงที่ CBAM ยังไม่เก็บเงินก็จริง แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต้องเตรียมประเมินผลไว้ ซึ่งทางสหภาพยุโรปเคร่งครัดในเรื่องการกรอกข้อมูลให้พร้อมและถูกต้อง และควรมีข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ 

“ผมเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอะลูมิเนียม อยากบอกฐานะผู้ประกอบการว่า ถ้ายังปรับตัวไม่ถูกให้เข้ามาปรึกษาเอ็มเทค เพราะมีทั้งทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล สามารถสนับสนุนการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เชื่อว่าจากนี้ไปภายในระยะเวลา 2 ปี จะมีหลายอุตสาหกรรมเร่งมือปรับตัวก่อนที่จะถูกเก็บเงินตามมาตรการ CBAM ที่จะทยอยประกาศมาตรการบังคับใช้กับอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน, อุตสาหกรรมการผลิตแก้ว, และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยในอนาคตเป็นไปได้ที่ต้องเผชิญมาตรการ CBAM อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

เอ็มเทค-บริการแหล่งข้อมูลกลางคาร์บอนแห่งเดียวของไทย

ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) โดยเอ็มเทค กล่าวว่า 

TIIS ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลสารสู่สิ่งแวดล้อมของการผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง 

ผู้ประกอบการสามารถใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้ช่วยตัดสินใจและทราบสิ่งที่ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเองให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและปล่อยมลสารสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจําปี

ทั้งนี้ กลุ่มอะลูมิเนียม เป็นกลุ่มแรกที่สามารถทำข้อมูลออกมาได้ทันช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการ CBAM ผลจากการประเมินจะช่วยให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีค่า CBAM กลางของประเทศ เพื่อใช้ต่อยอดสำหรับการเจรจาทางการค้า

สำหรับมาตรการ CBAM จะส่งผลให้ราคาวัสดุสินค้าเพิ่มขึ้นมา 15% ตัวอย่างเช่น การซื้อแท่งอะลูมิเนียมต่างสถานที่กัน ราคาเฉลี่ยอาจไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่เท่ากันคือ ตัวค่าคาร์บอนของอะลูมิเนียมของแต่ละประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อสู้กับการแข่งขันจากคู่แข่งประเทศอื่นด้วย

ประเทศไทยไม่มีโรงถลุงอะลูมิเนียมต้นทาง เป็นการซื้อจากต่างประเทศมาทั้งหมด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีกำไรเพียง 10 % ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่ได้เพราะว่าผลิตเป็นจำนวนมากหลักแสนตัน หากในอนาคตกำไรน้อยลงจากมาตรการ CBAM ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้โดยตรงเช่นกัน