คำเตือนๆ "ใช้เอไอ แต่อย่าหลงเอไอ" | บวร ปภัสราทร
เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นเรื่องที่ใครไม่พูดถึงจะกลายเป็นคนล้าสมัย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ “หลงเอไอ” เกินกว่าที่เป็นจริง โดยเฉพาะเอไอกลุ่ม Large Language Model
Large Language Model เป็นซอฟต์แวร์ที่เรียนรู้จากข้อความจากเอกสารจำนวนมหาศาล จนกระทั่งสามารถเข้าใจความหมายของภาษาเหล่านั้นในบริบทต่างๆ แล้วนำไปสังเคราะห์ไปข้อความในสารพัดเรื่อง ตามแต่ที่ผู้ใช้ซอฟต์แวร์นี้จะสอบถามมา
หลงกันไปถึงระดับปัญญาชน ที่มีการเชิญชวนให้มาฝึกอบรมการใช้เอไอประเภทนี้ในการเขียนรายงานการวิจัย อ้างไปว่าสามารถช่วยเขียนรายงานการวิจัยได้ครบทุกบท ตั้งแต่บทนำจนกระทั่งถึงบทสรุป โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการในการทำวิจัยแต่ประการใด
คือสร้างรายงานการวิจัยขึ้นมาได้โดยใช้เอไอ โดยคนไม่ต้องทำวิจัยอะไรเลย ซึ่งแม้ไม่ต้องเป็นนักวิจัยตัวจริงก็คงรู้ได้ว่าเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ แต่ก็ยังพบว่ามีคนสอนปัญญาชนจำนวนหนึ่ง ที่พากันไปฝึกอบรมตามที่มีการเชิญชวนนี้ แล้วก็ไม่ได้อบรมกันฟรีๆ เสียเงินทองกันเป็นหลักหมื่นเลยทีเดียว
“ความหลงเอไอ” ที่ระบาดไปถึงวงการปัญญาชน ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าอกเข้าใจเอไอดีที่สุด แสดงให้เห็นฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีนี้ว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนมากมายเพียงใด
กูเกิลที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้นำในเทคโนโลยีนี้ก็คงพอจะรู้ว่า น่าจะมีผู้คนหลงใหลเจ้าซอฟต์แวร์เอไอกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย เขาก็เลยมีคำเตือนให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า ซอฟต์แวร์เอไอที่เขาให้บริการอยู่นี้ เป็นการให้บริการในขั้นการทดลอง
ในการให้บริการนั้น เขายังมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูอยู่ด้วยว่าที่ซอฟต์แวร์สร้างข้อความต่างๆ ตอบคำถามที่เราถามไป หรือตามที่เราร้องขอไปนั้น ออกนอกเรื่องนอกราวไปบ้างหรือไม่
เขายังเตือนไว้ด้วยว่า ถ้าอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัว อย่าได้เอามา Prompt กับซอฟต์แวร์เอไอของเขา เว้นแต่ว่าเราไม่กลัวว่าเรื่องส่วนตัวจะหลุดไปในวงสาธารณะ เจ้าของเทคโนโลยีที่เคยบอกว่า Large Language Model จะมาช่วยเพิ่มผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ ในการเรียนรู้ของผู้คนได้เป็นอย่างดี
ยังเตือนแล้วเตือนอีกว่าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เหมือนถนนที่กำลังก่อสร้างอยู่ แต่มีปัญญาชนจำนวนไม่น้อยหลงไปว่าเป็นถนนชั้นดีที่ไม่เคยพอเจอมาก่อน ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
ทุกครั้งที่จะใช้ซอฟต์แวร์ Large Language Model ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด ขอให้ตระหนักถึงคำเตือนของกูเกิลไว้ 5 เรื่อง เรื่องแรก ข้อความที่ตอบเรามานั้นอาจจะไม่ถูกต้อง 100% คนรู้เยอะจะได้ประโยชน์ เพราะได้มุมมองเพิ่มเติม โดยรู้ว่ามุมไหนถูกมุมไหนผิด
แต่ถ้ารู้น้อยแล้วไปใช้ อาจจะยิ่งรู้น้อยลงไปอีกเพราะไปเชื่อในส่วนที่ไม่ถูกต้อง เอไอกลุ่มนี้สังเคราะห์ข้อความตอบคำขอของเราจากข้อความที่ซอฟต์แวร์เรียนรู้มา เอไอไม่ได้ทำวิจัยหาความจริงที่พิสูจน์ได้แล้วมาตอบเรา
เรื่องที่สอง เอไอมีความลำเอียงได้ ถ้าเอไอไปเก็บความรู้มาจากเอกสารจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ คำตอบจากเอไอก็มีความลำเอียงไปทางนั้น ไม่ต่างไปจากที่คนเราชื่นชอบการเมืองข้างใดข้างหนึ่งเป็นพิเศษ จะออกความเห็นครั้งใดก็ไปทางเดียวกับการเมืองข้างที่ตนชอบ
เรื่องที่สาม สืบเนื่องมาจากเรื่องที่สอง คือการโต้ตอบกับเรานั้นจะกระทำโดยซอฟต์แวร์ สมมติตนเองเป็นใครสักคนที่มีบุคลิกทางความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ในกรณีย่ำแย่ที่สุด เอไอที่โต้ตอบอยู่กับเราอาจเสมือนกับคนที่เก่งไม่จริง แต่โวมากก็ได้
เรื่องที่สี่เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักไว้มากๆ ว่า ข้อความคำตอบที่ได้นั้น อาจเป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่เอไอบอกว่าจริง หรือในทางตรงข้ามอาจเป็นเรื่องจริงที่เอไอกลับบอกว่าเป็นเรื่องไม่จริง ถ้ารู้น้อยแล้วใช้เอไอก็ยากที่จะแยกแยะจริงเท็จนี้ได้
เรื่องที่ห้ามาจากความสามารถในการถาม การร้องขอ หรือการ Prompt ให้เอไอช่วยทำให้ ถ้าเป็นข้อความที่ไม่ชัดเจน กำกวม จะนำไปสู่คำตอบที่มั่วไปเลย ถามไม่เป็น Prompt ไม่ได้เรื่อง คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้เรื่องตามไปด้วย
เอไอวันนี้เป็นผู้ช่วยที่ดีสำหรับผู้รู้ แต่เป็นปรมาจารย์ที่ย่ำแย่สำหรับคนไม่รู้ที่หลงเอไอ
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]