MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

MethaneSAT ดาวเทียมพิทักษ์โลกดวงแรก ที่พัฒนาโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมไม่แสวงผลกำไร จะมองเห็นการปล่อยก๊าซมีเทนที่ไม่มีดาวเทียมดวงไหนมองเห็น ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซได้เร็วขึ้น

KEY

POINTS

  • MethaneSAT ดาวเทียมตรวจวัดระดับก๊าซมีเทนและสืบสาวแหล่งกำเนิดที่มีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย
  • MethaneSAT พัฒนาโดยหน่วยงานในเครือขององค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกอย่าง Environmental Defense Fund
  • ข้อมูลจากดาวเทียมช่วยให้สาธารณชนกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซมีเทนรับผิดชอบได้

MethaneSAT ดาวเทียมพิทักษ์โลกดวงแรก ที่พัฒนาโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมไม่แสวงผลกำไร จะมองเห็นการปล่อยก๊าซมีเทนที่ไม่มีดาวเทียมดวงไหนมองเห็น ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซได้เร็วขึ้น

วันที่ 5 มีนาคม 2567 หลัง 16.00 น.ตามเวลาแปซิฟิก MethaneSAT ได้แยกตัวออกจาก SpaceX Transporter-10 ที่นำดาวเทียมติดตามการปล่อยก๊าซดังกล่าวขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

ดาวเทียมล้ำสมัยนี้ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยการเร่งการลดมลพิษจากก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างรุนแรง โดยมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นต้นกำเนิดหลักของก๊าซมีเทนก่อนเป็นอันดับแรก

MethaneSAT พัฒนาโดยหน่วยงานในเครือขององค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกอย่าง Environmental Defense Fund จะมองเห็นและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดในบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดาวเทียมดวงอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ และระบุตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซในสถานที่ที่ไม่มีดาวเทียมดวงไหนเฝ้ามอง 

ข้อมูลที่ได้จาก MethaneSAT จะช่วยให้ทั้งบริษัทต่างๆ และหน่วยงานกำกับดูแลสามารถสืบสาวต้นตอของการปล่อยก๊าซ และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ประชาชน หน่วยงานรัฐ และนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลแบบเกือบเรียลไทม์ได้ฟรี อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์กับเป้าหมายและหน้าที่ด้านการปล่อยก๊าซได้เป็นที่แรกอีกด้วย

“การลดมลพิษจากก๊าซมีเทนซึ่งได้จากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เกษตรกรรม และภาคส่วนอื่นๆ เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้เร็วที่สุด ร่วมกับความพยายามกำจัดคาร์บอนจากระบบพลังงานของเราอย่างต่อเนื่อง” Fred Krupp ประธาน EDF กล่าว 

“การจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษนี้ที่ครอบคลุมทั่วโลก MethaneSAT จะแสดงให้เราเห็นโอกาสแบบภาพรวมด้วยการสืบสาวการปล่อยก๊าซไปจนถึงแหล่งที่มา” 

Krupp ประกาศเปิดตัว MethaneSAT ใน TED Talk ปี 2018 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ TED Audacious Project EDF เป็นผู้นำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับก๊าซมีเทนมานานกว่าทศวรรษ

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

โดยเป็นองค์กรแรกที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ด้วยการดำเนินการศึกษาวิจัยอิสระ 16 ชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซมีเทนในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันและก๊าซของสหรัฐฯ สูงกว่าการประมาณการของ EPA ถึง 60% ซึ่ง MethaneSAT คือผลลัพธ์จากความพยายามเหล่านี้โดยตรง

MethaneSAT มีความพิเศษอยู่ที่ความสามารถในการวัดระดับก๊าซมีเทนในบริเวณกว้างได้อย่างแม่นยำและมีความละเอียดสูง รวมถึงแหล่งกำเนิดที่มีขนาดเล็กและกระจัดกระจายซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการปล่อยก๊าซมากที่สุดในหลายภูมิภาค

Steven Hamburg หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ EDF และหัวหน้าโปรเจ็กต์ MethaneSAT กล่าวว่า “การได้รู้ว่าก๊าซมีเทนมาจากไหนในปริมาณเท่าใดและมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการปล่อยก๊าซมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง”

MethaneSAT ซึ่งโคจรรอบโลก 15 ครั้งต่อวันจะวัดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของก๊าซมีเทนได้ละเอียดถึง 3 ในหนึ่งพันล้านส่วน เมื่อการตรวจจับความไวสูงทำงานร่วมกับการมองเห็นที่มีระยะการมองที่กว้างและมีความละเอียดสูงก็จะทำให้ MethaneSAT มองเห็นภาพการปล่อยก๊าซทั้งหมด 

ความสามารถพิเศษเหล่านี้ช่วยเปิดศักราชด้านความโปร่งใสให้กับอุตสาหกรรม ทุกคนสามารถดูข้อมูลการปล่อยก๊าซที่สามารถโต้ตอบได้โดยตรงที่ www.MethaneSAT.org และบน Google Earth Engine ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศชั้นนำที่มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์กว่า 100,000 รายใช้งาน

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

MethaneSAT เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากผู้ที่บริจาคให้กับ EDF และความร่วมมือระหว่างเรากับรัฐบาลนิวซีแลนด์ โดยมี Bezos Earth Fund, Arnold Ventures, Robertson Foundation และ TED Audacious Project เป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมในการสร้าง MethaneSAT รายใหญ่ที่สุด

“การปล่อยก๊าซมีเทนเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามและตรวจพบได้ยากมาเป็นเวลานานมากๆ”  Kelly Levin หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ ข้อมูล และการเปลี่ยนแปลงระบบของ Bezos Earth Fund กล่าว

MethaneSAT ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสมการ โดยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และข้อมูลเป็นอันดับแรก มันเห็นสิ่งที่ดาวเทียมดวงอื่นๆ มองไม่เห็นจากอวกาศ คอยช่วยเหลือคนดีและทำให้ผู้ร้ายต้องรับผิดชอบ Bezos Earth Fund รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมมือในการผจญภัยครั้งนี้

ในเดือนธันวาคม EDF ได้ร่วมมือกับ Bloomberg Philanthropies, International Energy Agency, RMI และ International Methane Emission Observatory ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในโครงการริเริ่มใหม่โครงการแรกที่กำหนดให้บริษัทและรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการจัดการก๊าซมีเทนของตน

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

“คุณไม่สามารถจัดการสิ่งที่คุณไม่สามารถวัดได้ คำกล่าวนี้ยิ่งเป็นความจริงเมื่อพูดถึงการลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Michael R. Bloomberg ผู้แทนพิเศษด้านความมุ่งมั่นและการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้ก่อตั้ง Bloomberg LP และ Bloomberg Philanthropies กล่าว

“ข้อมูลจากดาวเทียมนี้จะช่วยให้เราวัดการปล่อยก๊าซมีเทนและระบุแหล่งที่มาได้ดีขึ้น ช่วยให้เข้าใจปัญหาได้ง่ายขึ้น ทำให้บริษัทและนักลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการแก้ไข และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สาธารณชนกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบได้”

นอกเหนือจากการระบุแหล่งที่มาและอัตราการปล่อยก๊าซในภูมิภาคนั้นๆ แล้ว MethaneSAT ยังช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบอัตราการลดการปล่อยก๊าซในภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันและก๊าซหลักๆ ทั่วโลก ตลอดจนประสิทธิภาพเมื่อผ่านไประยะหนึ่งได้อีกด้วย

การวิเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภารกิจนี้เป็นพิเศษ จะสืบสาวการปล่อยก๊าซดังกล่าวกลับไปจนถึงแหล่งที่มาภายในภูมิภาคเป้าหมายเหล่านั้น

“เราพบว่าข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง ส่งผลให้เกิดมาตรการป้องกันด้านระเบียบข้อบังคับที่เข้มแข็ง และมีแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีคือรากฐานที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น” Mark Brownstein รองประธานอาวุโสฝ่าย Energy Transition ของ EDF กล่าว

ในเดือนมกราคม รัฐบาลไบเดนได้เสนอกฎการเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซมีเทนส่วนเกิน ซึ่งจะกำหนดให้ต้องมีการรายงานการปล่อยก๊าซที่ถูกต้อง

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

กฎหมายของสหภาพยุโรปเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนให้จัดทำแผนภูมิแนวทางในการกำหนดให้ผู้นำเข้าก๊าซต้องให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเชิงประจักษ์

ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งเป็นชาติที่ซื้อก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดสองราย ก็ได้ออกแผนการที่จะเริ่มขอข้อมูลการปล่อยก๊าซจากซัพพลายเออร์

ประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศได้ลงนามในประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยการปล่อยก๊าซมีเทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนโดยรวมให้ได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์จากระดับปี 2020 ภายในปี 2030

ในขณะที่การประชุม COP28 บริษัทต่างๆ กว่า 50 บริษัทได้ออกกฎบัตรการลดคาร์บอนจากน้ำมันและก๊าซ โดยมุ่งมั่นที่จะกำจัดการปล่อยก๊าซมีเทนและการปล่อยก๊าซส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน

MethaneSAT ดาวเทียมสืบสาวต้นตอก๊าซมีเทน

นอกเหนือจาก EDF ซึ่งเป็นองค์กรแม่แล้ว พันธมิตรของ MethaneSAT ยังประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หอดูดาวฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมิธโซเนียน และองค์การอวกาศนิวซีแลนด์ โดยทีมภารกิจร่วมนี้มีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 70 คนจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์ในการบินอวกาศ การสำรวจระยะไกล และการวิเคราะห์ข้อมูล

ดาวเทียมดวงนี้สร้างขึ้นในโคโลราโดโดยหน่วย Space & Mission Systems ของบริษัท BAE Systems, Inc. (เดิมชื่อ Ball Aerospace) และ Blue Canyon Technologies

Environmental Defense Fund (edf.org) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไรระดับโลก สร้างสรรค์แนวทางแก้ไขเชิงปฏิรูปต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุด โดย EDF เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และความร่วมมือภาคเอกชนเชิงนวัตกรรมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์แนวทางเหล่านี้

นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ EDF ซึ่งมีสำนักงานและสมาชิกมากกว่า 3 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา จีน เม็กซิโก อินโดนีเซีย และสหภาพยุโรป ทำงานใน 28 ประเทศเพื่อให้แนวทางแก้ไขของเราปฏิบัติได้จริง.