Women Techmakers Bangkok ชุมชนของผู้หญิงสายเทคฯ

Women Techmakers Bangkok ชุมชนของผู้หญิงสายเทคฯ

ชวนรู้จัก Women Techmakers Bangkok ชุมชนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงวงการเทคโนโลยีและเอไอ ในวันที่ผู้ชายมีจำนวนสัดส่วนเป็นซีอีโอเทคฯ เยอะกว่า

KEY

POINTS

  • บริษัทเทคฯ และสตาร์ตอัป มีสัดส่วนผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คิดเป็นเพียง 26% ทั่วโลก
  • ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหรือผู้ก่อตั้งบริษัทเทค-เอไอยังคงมีจำนวนน้อย และผู้ชายยังคงได้รับเงินเดือนมากกว่าผู้หญิงในตำแหน่งเดียวกัน 

  • Women Techmakers Bangkok เป็นชุมชนที่โอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศของสตรีในวงการเทคโนโลยี

วงการเทคโนโลยีปัจจุบันอยู่ในยุครุ่งเรือง ซึ่งหากนึกถึงผู้นำด้านเอไอหลายคนมักจะนึกถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก จนกลายมาเป็นเมตา หรือ อีลอน มักส์ ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์และเทสลา หากแต่เรายังนึกภาพผู้นำหญิงที่เข้ามาก่อตั้งบริษัทเอไอไม่ค่อยออก

ขณะเดียวกันบริษัทเทคฯ และสตาร์ตอัป มีสัดส่วนผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คิดเป็นเพียง 26% ทั่วโลก ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเอไอนั้นยังมีจำนวนน้อย

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดเป็นชุมชน Women Techmakers ที่ริเริ่มโครงการโดยกูเกิล ชุมชนที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยและให้แรงบันดาลใจผู้หญิงในวงการเทคโนโลยี โดยเมื่อวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา ทาง Women Techmakers Bangkok จัดงานเสวนา เพื่อรวมตัวผู้หญิงทำงานสายเทคมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแชร์ข้อมูลการทำงานด้านเอไอ ทางกรุงเทพธุรกิจจึงหยิบยกบทเสวนาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

ผู้หญิงกับสายงานด้านเอไอ

กมลพรรณ ลิ้วประเสริฐ เอกอัครราชทูตของ Women Techmakers ในประเทศไทย กล่าวว่า Women Techmakers Bangkok เป็นชุมชนที่โอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศของสตรีในวงการเทคโนโลยี ด้วยการจัดเวิร์กช็อป จัดงานเสวนา พัฒนาสกิล ทำกิจกรรมทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 

“ที่ผ่านมาเรามีทั้งผู้หญิงมุสลิมทำงานด้าน UX/UI และก็มีผู้ชายเข้ามาร่วมทำกิจกรรม ซึ่งต่อให้เป็นชุมชน Women Tech แต่เราไม่ได้ปิดกั้นเพศอื่นๆ เราพยายามส่งเสริมทุกเพศเพื่อลดอคติและสร้างความเท่าเทียม เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตได้” กมลพรรณ กล่าว

นอกจาก Women Techmakers Bangkok ยังมีเครือข่ายของ GDG Cloud Bangkok หรือ Google Cloud Platform (GCP) ชุมชนนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีในกรุงเทพฯ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเทคโนโลยีคลาวด์ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อช่วยให้นักพัฒนาเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ GCP

Women Techmakers Bangkok ชุมชนของผู้หญิงสายเทคฯ

ด้าน พัชรินทร์ อารีย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ของธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานที่กูเกิลมา 16 ปีในสิงคโปร์ โตเกียว และซิลิคอนแวลลีย์ ว่า แม้ว่าปี 2567 จะมีความเท่าเทียมเกิดขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาๆ แต่ยังพบเจอได้ว่าในงานตำแหน่งเดียวกันบริษัทเดียวกัน ผู้ชายยังได้รับเงินเดือนมากกว่าผู้หญิง ขณะเดียวกันไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเลยในสายงานนี้ 

“ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในวงการเทคหลายคนมีจุดเด่นคือ มีความมั่นใจในตนเอง มั่นใจในทักษะและสกิลที่ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด กล้าทำอะไรที่ตอบโจทย์คุณค่าและความเชื่อของตนเอง 

มี Work Smart ไม่ปล่อยให้ตนเองทำงานหนักจนบาลานซ์ชีวิตไม่มีความสุข นอกจากนี้ก็ต้องมี Great Communicator ฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญ ใช้ได้กับทุกๆ แขนงการทำงาน เช่น การนำเสนอดาต้าหรือข้อมูลต่างๆ ให้มีความน่าสนใจ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นมา ห้ามยอมแพ้ ล้มได้แต่ต้องลุกขึ้นมาใหม่” พัชรินทร์ ชี้จุดสรุป

แชตบอตเตือนความจำ

ในงานเสวนายังมี ธัญวรินทร์ พิศาลปรีชาธรรม วิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสของ บาเรียนโด (Bariendo) บริษัทให้บริการด้านการแพทย์เกี่ยวกับการลดน้ำหนักสัญชาติไทย-อเมริกัน หนึ่งในผู้หญิงที่ทำงานด้านเทคโนโลยี ออกมาพูดถึงผลงานที่ตนเองทำ 

ธัญวรินทร์ กล่าวว่า ตนเองรับผิดชอบเรื่องของการดูแลเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชันต่างๆ ของบริษัท และในขณะนี้ได้สร้างแชตบอตบนแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ “กินยายัง” เพื่อนำร่องแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยลืมกินยา

“แชตบอตตัวนี้เกิดจากที่ตนเองและคนในครอบครัวนั้นทำงานหนักจนหลงลืมกินยา ทำให้อาการป่วยไม่หาย และบางครั้งยาที่หมอสั่งก็มีจำนวนเยอะ จำสรรพคุณของยาแต่ละชนิดไม่ได้ จำไม่ได้ว่าต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร 

การมีแชตบอตคอยเตือนเป็นการช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ โดยที่ปัจจุบัน ผู้คนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง จึงเกิดเป็นโซลูชันแชตบอตกินยายัง เตือนความจำขึ้นมา ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานง่ายๆ แค่มีไลน์ก็สามารถเพิ่มเพื่อนและใช้งานแชตบอตได้เลย” 

วิธีตั้งค่าแชตบอตกินยายัง เริ่มต้นจากผู้ใช้ต้องถ่ายรูปฉลากยาบนหน้าซอง เอไอจะอ่านสรรพคุณ วิธีใช้ยาทั้งหมด และแปลงมาเป็นข้อความ เพื่อให้ผู้ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง หากถูกต้องแล้วจึงสามารถยืนยันข้อมูลเพื่อรีเซ็ตระบบ หากต้องการแก้ไขก็สามารถเพิ่มรายละเอียดได้ เมื่อถึงเวลารับประทานยา เอไอจะแจ้งเตือนและบอกว่าต้องรับประทานยาตัวนี้อย่างไรบ้าง 

“จุดที่สำคัญคือ การนำเอไอมาใช้กับผู้ป่วย หลายๆ ประเทศมีมาตรการ ข้อกำหนด กฎหมายที่ต่างกัน ดังนั้น วิศวกรซอฟต์แวร์ท่านใดที่สนใจด้านเฮลล์เทคจึงต้องศึกษาให้ละเอียด และต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะมีชีวิตของคนที่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้แล้ว อยากให้น้องๆ นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้านเอไอ โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังหลงทาง ได้เข้ามาร่วมกลุ่มกับ Women Techmakers Bangkok เพื่อเป็นขุมทรัพย์พลังในการทำงานด้านเทคโนโลยีต่อไป” ธัญวรินทร์ กล่าว

คุณครูเอไอ

อำไพพันธุ์ อธิพันธุ์อำไพ ผู้ก่อตั้ง Duckgrammer สมาชิกของชุมชน Women Techmakers Bangkok กล่าวว่า Duckgrammer เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ความรู้ด้านการนำเอไอไปใช้สร้างสรรค์ผลงาน (Content Creator) และยังเป็นสตาร์ตอัปที่ให้คำปรึกษากับนักพัฒนาเพื่อวางแผนการใช้เอไอกับสื่อของตน

Duckgrammer ชื่อตรงตามตัวเลยคือ เป็นมนุษย์เป็ดด้านเอไอ ที่สามารถทำได้หลายอย่าง เพราะในปัจจุบัน เอไอมีทักษะใหม่ๆ ออกมาให้เราเรียนรู้อยู่ตลอด

ผลงานที่ผ่านมาคือ การสร้าง Agnos แอปพลิเคชันด้านเทเลเมด (Telemed) ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกแบบส่วนประกอบ UI ของแอปพลิเคชัน ตั้งค่าเวอร์ชันแรกของเว็บไซต์และบล็อกของบริษัท และยังเปิดคอร์ส จัดค่าย แก่นักเรียนนักศึกษาที่สนใจให้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อฝึกฝนทักษะด้านไอเอโดยเฉพาะ”