การศึกษาในยุคเทคโนโลยี AI ที่จะไม่เหมือนเดิม

การศึกษาในยุคเทคโนโลยี AI ที่จะไม่เหมือนเดิม

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาก้าวกระโดดในทุกๆ 4-5 เดือน กำลังทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจและคนทำงานต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะทบทวนตนเองและต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านี้

ล่าสุด Salman Khan ผู้ก่อตั้ง Khan Academy แพลตฟอร์มการสอนหนังสือระดับโลก ได้เขียนหนังสือชื่อ Brave New Words : How AI Will Revolutionize Education (and Why That’s a Good Thing) ให้มุมมองเชิงบวกและชี้ให้เห็นโอกาสครั้งสำคัญที่เราสามารถนำเอไอมาใช้ในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม

หนึ่งในไอเดียหลักในหนังสือ คือเทคโนโลยีเอไอมีศักยภาพในการเป็น “ครูผู้ช่วยสอนสำหรับนักเรียนทุกคน” (one-on-one tutoring) การสอนตัวต่อตัวทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาไปได้ตามความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเองโดยไม่ต้องถูกผลักให้เลื่อนระดับไปตามเพื่อนทั้งชั้น จนเรียนไม่ทันในบางเรื่อง ซึ่งในอดีต ชนชั้นนำระดับสูงเท่านั้นจึงจะมีครูสอนส่วนตัวได้

ดังเช่นในประวัติศาสตร์อย่าง “อเล็กซานเดอร์มหาราช” ที่มี “อริสโตเติล” เป็นครูสอนส่วนตัว ในยุคปัจจุบัน เพียงครอบครัวที่ร่ำรวยเท่านั้นจึงจะสามารถจ้างครูมาสอนพิเศษส่วนตัวได้ แต่ความก้าวหน้าของเอไอในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีครูส่วนตัวสำหรับนักเรียนแต่ละคนโดยเฉพาะได้แล้ว

ด้วยความสามารถในการสอนแบบตัวต่อตัว สามารถปรับตามความต้องการและความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียน เอไอสามารถทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Khan Academy ได้พัฒนา Khanmigo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเอไอที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนส่วนตัวและผู้ช่วยในการสอนสำหรับครู โดยสามารถสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงประวัติศาสตร์และศิลปะ

เอไอช่วยให้เรียนรู้เนื้อหา พร้อมทั้งสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ทำให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และสำรวจหัวข้อในเชิงลึกได้ ข้อได้เปรียบที่สำคัญของเอไอ คือความสามารถในการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน

เอไอสามารถจดจำและติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน ปรับการสอนให้เหมาะสมกับระดับความเข้าใจ และช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถช่วยครูในการวางแผนการสอนและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนได้

ปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายของการนำพลังของเอไอมาใช้ในการศึกษา เช่น Duolingo แอปเรียนภาษาชื่อดังได้ใช้เอไอเพื่อปรับแต่งการเรียนรู้ภาษาสำหรับผู้ใช้แต่ละคน Carnegie Learning พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ใช้เอไอเพื่อสอนคณิตศาสตร์ตามระดับการพัฒนาและความต้องการของแต่ละคน

Century Tech ใช้เอไอเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะของตนเอง และช่วยครูติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน เพื่อปรับการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน และ CTI ใช้เอไอสร้างหนังสือเรียนและสื่อการเรียนการสอนที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการของนักเรียน

เมื่อนักเรียนทุกคนสามารถมีครูเอไอเป็นผู้ช่วยส่วนตัวแล้ว โรงเรียนและหลักสูตรควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรในยุคที่เอไอเก่งขึ้นมาก?

โรงเรียนและหลักสูตรการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน สิ่งแรกที่ควรจะทำคือการปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการสอนใหม่ หลักสูตรการศึกษาต้องปรับปรุงให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป

การเรียนการสอนควรเน้นที่การพัฒนาทักษะที่เอไอไม่สามารถทดแทนได้ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน ความฉลาดทางอารมณ์และจิตใจบริการ เป็นต้น และยังควรบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และการทำงาน

ในยุคของเอไอ การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม นักเรียนสามารถเรียนรู้ออนไลน์และการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

ซึ่งโรงเรียนควรส่งเสริมและจัดหาแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่หลากหลายให้นักเรียนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ตามความสนใจและความต้องการของตนเอง สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่สามารถปรับตัวและพัฒนาได้ตลอดเวลา

สิ่งสำคัญคือ โรงเรียนควรนำเอไอมารวมใช้ในการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียน และปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ การเรียนรู้ในยุคเอไอควรเน้นที่การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning: SEL)

เช่น การทำงานเป็นทีม การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการจัดการกับความเครียดและอารมณ์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีในโลกที่เปลี่ยนแปลง

สุดท้ายแล้ว บทบาทของครูยังจำเป็นต่อการศึกษา แต่จำเป็นต้องปรับบทบาทใหม่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน กระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนการพัฒนาทักษะและความรู้ของครูในการใช้เทคโนโลยีและเอไอ เพื่อการสอนและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

ในโลกยุคเอไอ นักเรียนและคนทำงานสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะและพัฒนาการของตนเองแล้ว (Self-paced Learning) เกิดการศึกษาแบบปรับแต่งตามความต้องการส่วนตัว (Personalized Education) ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ไปตามความต้องการและพัฒนาการของตนเอง

กระทรวงศึกษาธิการและระบบการศึกษาไทยจึงต้องปรับตัวอย่างเร็ว ให้เอื้อต่อโอกาสในการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เอไอเข้ามาปลดปล่อยให้เป็นไปได้ในครั้งนี้