แอนิเมชันญี่ปุ่นเผชิญวิกฤติ หลังพบ AI เลียนแบบผลงานกว่า 3,000 ภาพ
ผลสำรวจพบ เบื้องหลังภาพแอนิเมชันสร้างโดยเอไอ 90,000 ภาพ มีผลงานราว 3,000 ภาพ ที่คล้ายคลึงกับตัวละครในแอนิเมชันชื่อดัง เช่น ทันจิโร่ ดาบพิฆาตอสูร, อาเนีย สปาย × แฟมิลี
การมีอยู่ของ Generative AI สามารถสร้างภาพยนตร์หรือแอนิเมชัน 1 เรื่องได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ป้อนคีย์ลัด (prompt) เข้าไป หากแต่ข้อมูลทางชีวภาพที่เอไอเหล่านั้นนำมารังสรรค์เป็นผลงานถูกหยิบยกมาจาก “งานโดยฝีมือของมนุษย์ที่มีอยู่แล้ว”
อุตสาหกรรมแอนิเมชันญี่ปุ่นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเจนเอไอซึ่งตกอยู่ในสภาวะวิกฤติที่หาสมดุลระหว่างการเทรนด์ไอเอโดยไม่ใช้ผลงานของมนุษย์เลยไม่ได้ แม้ว่าเอไอจะเก่งแค่ไหน ทำงานเร็วแค่ไหน แต่ไม่สามารถริเริ่มสร้างไอเดียจาก 0 อย่างที่บุคลากรจริงทำได้
สำนักข่าว Asia Nikkei เก็บผลสำรวจเบื้องหลังภาพแอนิเมชันสร้างโดยเอไอ พบว่า กว่า 90,000 ภาพที่เอไอเจนออกมา มีผลงานราว 3,000 ภาพ ที่คล้ายคลึงกับตัวละครในการ์ตูนชื่อดังต่างๆ เช่น ทันจิโร่ จากดาบพิฆาตอสูร หรือ อาเนีย จากสปาย × แฟมิลี
ภาพที่ถูกสร้างขึ้นมีหลายสไตล์ ตั้งแต่ตัวละครการ์ตูนไปจนถึงภาพยนตร์แอคชัน ผู้ใช้สามารถสร้างฉากหลังที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพเมือง ห้องนอน หรือภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ รวมถึงปรับเปลี่ยนสีหน้าและท่าทางของตัวละครได้ด้วย บางภาพมีความคล้ายคลึงกับผลงานต้นฉบับมากจนแทบจะแยกไม่ออกในแวบแรก
การสร้างภาพเอไอไว้ใช้งานเอง เช่น การตั้งเป็นวอลเปเปอร์พีซี ยังคงคลุมเครือ เพราะเป็นการใช้ส่วนตัว แต่หากนำภาพที่เจนเอไอเผยแพร่บนเว็บไซต์แชร์รูปภาพ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีความคล้ายคลึงกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่เดิมมากเกินไป
ซึ่งผลงานกว่า 3 พันชิ้นที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ที่อนุญาตผู้ใช้แชร์ภาพ กลายเป็นช่องทางละเมิดลิขสิทธิ์รูปแบบใหม่ สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล
นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่าภาพละเมิดลิขสิทธิ์ที่แพร่กระจายโดยผิดกฎหมายนั้น อาจถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อฝึกฝนเอไอให้สามารถสร้างผลงานที่คล้ายคลึงกับต้นฉบับมากยิ่งขึ้น กลายเป็นวงจรวนลูปไม่จบไม่สิ้นของการละเมิดลิขสิทธิ์
"จากการสืบสวนของ Nikkei มีความเป็นไปได้ที่เอไอจะสร้างภาพละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่คาดคิด หากคำสั่งระบุชื่อตัวละคร จะยิ่งถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่ายขึ้น" โคทาโร่ ทานาเบะ ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย มิมูระ โคมัตสึ กล่าว
ในญี่ปุ่น การพิจารณาว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงว่าลักษณะการแสดงออกพิเศษนั้นมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการอ้างอิงว่ามีการอ้างอิงผลงานที่มีอยู่เดิมหรือไม่
แม้ญี่ปุ่นยังไม่มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การจัดการกับปัญหานี้มีความยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างภาพได้จำนวนมากและรวดเร็วเกือบจะทันที
อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ศาลอินเตอร์เน็ตกว่างโจว ประเทศจีน ตัดสินว่า ภาพที่สร้างโดยเอไอซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนอย่างมาก ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า คอนเทนต์ของญี่ปุ่นกำลังตกเป็นเป้าหมาย
ตามรายงาน Anime Industry Report 2023 จากสมาคมแอนิเมชันญี่ปุ่น ระบุว่า ตลาดแอนิเมชันที่เผยแพร่ทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านเยน (ราว 19,300 ล้านดอลลาร์) ซึ่งความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเอไอสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ กำลังกลายเป็นภัยเงียบที่กัดกร่อนอุตสาหกรรมอันทรงคุณค่าของญี่ปุ่น
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างมาตรการป้องกัน เพื่อปกป้องสิทธิของนักวาดการ์ตูน ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาฝึกเอไอด้วย มิเช่นนั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นแก่นของวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นอาจต้องเสื่อมถอยลงได้
อ้างอิง: Asia Nikkei