ปรับตัวหรือล้มหาย? ‘ปริชญ์ รังสิมานนท์’ เตือนผู้ประกอบการค้าปลีกยุค AI
เจาะลึกวิสัยทัศน์ ‘ปริชญ์ รังสิมานนท์’ ผู้บริหารลูลู่ เทคโนโลยี ที่นำ Data และ Design Thinking มาใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับธุรกิจค้าปลีก พร้อมทั้งกล่าวไว้ว่า “AI ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นโอกาสทองของธุรกิจ”
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับโลกของเรา ขณะนี้หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรม เริ่มใช้เอไอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มยอดขายและผลกำไร
หนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจค้าปลีก” หากคุณอยากขายสินค้าได้มากขึ้น ปั่นยอดขายให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เอไอจะเป็นพระเอกที่ทำให้คุณบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เพราะหนึ่งในความสามารถที่โดดเด่นของเอไอ คือ การบริหารจัดการสต๊อกสินค้า
ทางกรุงเทพธุรกิจจึงชวนมาทำความรู้จักกับเอไอให้มากขึ้น ด้วยการเล่าผ่านมุมมองของ “ปริชญ์ รังสิมานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ทเนอร์บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด (Looloo Technology)
เอไอเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า
ปริชญ์ กล่าวว่า เอไอสามารถคาดการณ์ประเภทสินค้า จำนวนสินค้า ที่ลูกค้าต้องการในแต่ละสาขาได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังแนะนำได้ว่าควรขายสินค้าอะไรเพิ่มเติมที่น่าจะตรงกับความสนใจของกลุ่มลูกค้า
“สิ่งที่เอไอทำได้เก่งมากๆ คือ การจับคู่ ตัวอย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เมื่อคุณดูหนังเรื่องนี้จบ เอไอจะสามารถแนะนำคุณได้ว่าควรดูประเภทไหนต่อไป โดยเอไอมีฐานข้อมูลลูกค้าเป็นล้านคน ซึ่งเขาก็จะนำพฤติกรรมคนเหล่านั้นมาใช้วิเคราะห์ เพื่อดูว่าคนที่ดูหนังเรื่องเดียวกับคุณเขาดูอะไรกันต่อ และ recommend ให้คุณ
เช่นเดียวกันกับเอไอของลูลู่ ที่มีข้อมูลผู้บริโภคกว่าสามแสนคน หากคุณจะวางตู้กดเครื่องดื่มข้างๆ โรงเรียน เราก็จะดูว่าร้านค้าบริเวณนั้นขายอะไรแล้วผลตอบรับดี เช่น เขาขายน้ำแดง แต่ตู้ของคุณไม่มีน้ำแดง เราก็จะแนะนำให้เพิ่มน้ำแดงในเมนู เพราะร้านค้าใกล้กับโรงเรียนก็ขายน้ำแดงได้ นี่คือ การจับคู่ของเอไอเพื่อเพิ่มยอดขาย”
สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรทั้งระดับเอสเอ็มอีและคอร์ปอเรทก้าวไปสู่จุดที่เติบโตขึ้นได้ คือ "ข้อมูล" (Data) เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
ปริชญ์ ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า คนที่ใช้เอไอเป็นเสมือนมีข้อมูล (Data) มหาศาลอยู่ในมือ ซึ่งหากนำไปรวมกับการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategy) ที่ตอบโจทย์ลูกค้า มีข้อมูลรองรับ และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ปรับเปลี่ยนทัศนะผู้บริหาร
ความคิดของผู้บริหารสำคัญที่สุดในการนำเอไอมาใช้ประโยชน์ และมีประสิทธิผลสูงสุด ผู้บริหารจะต้องมองเห็นจุดปัญหาขององค์กร แล้ววิเคราะห์ว่าจะนำเอไอมาช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาอย่างไร จึงจะได้จากเอไอประโยชน์จริงๆ เมื่อเทียบกับการซื้อมาใช้ตามกระแส โอกาสที่จะล้มเหลวก็มีสูง
“ความน่ากังวลของสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ องค์กรที่ใช้เอไอจะอยู่ห่างองค์กรที่ไม่ใช้เอไอไปเรื่อยๆ ซึ่งมันสวนทางกัน ระบบการทำงานทุกอย่างเริ่มไม่เชื่อมถึงกัน
ยกตัวอย่างเช่น ร้านที่ใช้ Demand Prediction สามารถวางแผนหมุนเงินได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลยสักบาท ตั้งแต่คาดการณ์ช่วงเวลาในการขายที่จะทำให้ได้เงินเร็วที่สุด ไปจนถึงการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่จะได้เครดิตนานที่สุด ขยายการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนร้านเล็กๆ ที่หมุนเงินไม่ทันก็ต้องปิดกิจการไป นี่คือภาพที่ชัดที่สุดว่าคนที่ไม่ใช้เอไอกำลังถูกคนที่ใช้เอไอครอบ เรากำลังอยู่ในสถานะที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”
ผู้บริหารลูลู่ เทคโนโลยี ได้ขมวดตัวอย่างการใช้ประโยชน์เอไอในองค์กรธุรกิจไว้หลักๆ ดังนี้
1) Prediction เห็นชัดเจนในธุรกิจค้าปลีกในการจัดการสินค้าในสต็อก อีกทั้งขยายไปถึงการคาดการณ์ประเภทสินค้าที่ลูกค้าต้องการ และจำนวนที่ต้องการ ตลอดจนข้อมูลความต้องการสินค้าเฉพาะสาขา เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรธุรกิจที่ไม่ได้ใช้เอไอสามารถเห็นเป็นตัวเลขได้ว่า Productivity เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
2) Speech-to-text API for Call Centers ที่จะมีข้อมูลเชิงลึกหรือข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในการนำเสนอสินค้า และบริการให้กับลูกค้า
3) Truck Load Optimization เช่น การขนส่งเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เทคโนโลยีเอไอจะช่วยคำนวณตำแหน่งจัดวางสินค้าบรรทุกเพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่คุ้มค่าที่สุด และเหมาะสมกับน้ำหนักบรรทุก
“ข้อมูล” ทางรอดกิจการค้าปลีก
“พัฒนาการของ AI ในอนาคตเรื่องของผลกระทบต่อมนุษยชาติมันน่ากลัวก็จริง แต่ ณ ตอนนี้ที่น่ากลัวมากกว่าคือ เราตามคนอื่นไม่ทัน แล้วมันก็จะมีการตกราง หรือว่าอย่างที่สอง คือ กระโดดลงไปโดยที่ยังไม่รู้อะไรเลย และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเอสเอ็มอีของไทยที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มใช้ data ผมว่า เอไอ คือ ทุกคนอยากทำ แต่บริษัทเล็กยังไม่ได้ทำ ความสามารถในการแข่งขันก็จะยิ่งห่างออกไปอีก"
ลูกค้าที่ใช้เอไอของลูลู่มีตั้งแต่ระดับเล็กสุดคือ โรงเรียนสอนพิเศษ ไล่ขึ้นไปเป็นธนาคาร โรงพยาบาล โดยร้านค้าเล็กๆ อย่างเอสเอ็มอีก็สามารถใช้เอไอได้ เริ่มต้นที่เก็บตัวอย่างของดาต้า
เมื่อเก็บข้อมูลได้แล้วคุณโยนข้อมูลเหล่านี้ใส่เอไอ เช่น ChatGPT หรือ Gemini ให้เอไอเหล่านั้นประมวลผลเป็นกราฟออกมาเพื่อแนะนำการขาย แค่นี้ก็ถือว่าคุณเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเอไอแล้ว ลองคิดดูว่าหากร้านโชห่วยเก็บข้อมูลของเขาได้ถูก Season มันจะเป็นประโยชน์แก่เขาได้มากขนาดไหน ผมคิดว่าตอนนี้ค้าปลีกจะต้องปรับตัว
ปี 67 use case เอไอจะชัดยิ่งขึ้น
การนำเอไอมาใช้คือ โอกาสทองของธุรกิจไทยในการยกระดับและสร้างความได้เปรียบในตลาด ผู้ประกอบการที่เข้าใจและนำแนวคิดนี้ไปใช้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงในยุคดิจิทัล
ผู้บริหาร ลูลู่ เทคโนโลยี ฉายภาพทิ้งท้ายถึงเทรนด์การใช้เอไอว่า ปี 2567 จะเห็นการใช้งาน และ use case ที่ชัดเจนของ Generative AI มากขึ้น จากปีที่ผ่านมาที่มีการพูดถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่หลายบริษัทสนใจที่จะนำมาใช้เป็นพิเศษ เพราะสามารถ improve productivity ได้จริงเทียบกับสมัยก่อนที่ใช้เครื่องคิดเลขคิดคำนวณ สุดท้ายก็เริ่มมี Excel และ Lotus เข้ามา วิวัฒนาการในการใช้งานเอไอก็จะเป็นไปในลักษณะแบบนั้น