4 มหาวิทยาลัยแชร์ประสบการณ์ร่วมทุนเอกชนผ่าน University Holding Company
สอวช. เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้การจัดตั้ง University Holding Company (UHC) ดึง 4 มหาวิทยาลัยแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายที่ช่วยผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง
KEY
POINTS
- สอวช. ดึง 4 มหาวิทยาลัยที่จัดตั้ง UHC ขึ้นใหม่ แบ่งปันประสบการณ์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - PSU Holding มีบริษัทลูกแล้ว 1 บริษัท และภายในปีนี้จะผลักดันให้เกิดรวม 4 บริษัท
- มหาวิทยาลัยทักษิณ - TSU Enterprise ซึ่งแนวคิดหลักจะมองเรื่องนโยบายเชิงพื้นที่
- สจล.- เคเอ็มไอที ลาดกระบัง ช่วยตอบเป้าหมายหลัก World Master of Innovation เป็นสถาบันที่สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - เริ่มจัดทำ UHC ตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งจดทะเบียนได้ในปี 2567 ในชื่อ MAGROW Holding ปัจจุบันมีบริษัทลูก 2 บริษัท
งานเสวนา UHC Learn & Share ครั้งที่ 1 หัวข้อ “From Blueprint to Reality of New Establishments” โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ Co-working Space ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. และผ่านระบบออนไลน์
นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เป็น University Holding Company หรือ UHC ที่จัดตั้งขึ้นใหม่
ซึ่งหลังจากที่ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการ ซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 เห็นได้ชัดว่าหลายมหาวิทยาลัยให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และมีเป้าหมายตรงกันว่าประเทศต้องการธุรกิจนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Enterprise)
วัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีที่ใช้ในการสื่อสารนโยบาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการสร้างเครือข่าย UHC ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อรวมพลังช่วยกันผลักดันนโยบายให้เกิดผลขึ้นได้จริง
นายอานนท์ ตานะเศรษฐ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. ได้แนะนำภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมผ่านกลไก UHC หรือ นิติบุคคลเพื่อการร่วมลงทุน ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากมหาวิทยาลัย
เพื่อทำหน้าที่บริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพ มีการบริหารการลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยออกไปจัดตั้งธุรกิจ (Spin-off) อีกทั้งสามารถเข้าถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับการสนับสนุนทางการเงินอย่างคล่องตัว
ที่ผ่านมามีข้อจำกัดของการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษากับภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ จึงได้มีการดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) การปลดล็อกกฎระเบียบ ผ่านการออกระเบียบสำนักนายกฯ และระเบียบสภานโยบายฯ
ปัจจุบัน สอวช. ได้มีการผลักดันผ่านการสื่อสารทำความเข้าใจผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย เช่น การจัดกิจกรรม Roadshow การจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมถึงให้คำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยที่สนใจ
ในส่วนของเวทีเสวนานั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตั้งและดำเนินการ UHC จากตัวแทนจาก 4 มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จดทะเบียน UHC ภายใต้ชื่อ PSU Holding โดยมีบริษัทลูกแล้ว 1 บริษัท และภายในปีนี้จะผลักดันให้เกิดรวม 4 บริษัท มีเป้าหมายเพื่อต้องการนำเอางานวิจัยในมหาวิทยาลัยออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงจะต้องอาศัยหลัก 3C คือ
1. Coach ต้องมีโค้ชที่มีประสบการณ์เป็นผู้แบ่งปันความรู้ในการจัดตั้ง UHC เป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนต่อเองได้
2. Connect มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการทำงานร่วมกัน และ
3. Cash คือการมีเงินทุนในการดำเนินงานเพื่อให้บริษัทไปต่อได้ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จคือการเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าหน่วยงานมีอะไรดี หน่วยงานเก่งอะไร เพื่อหาจุดขายของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมา
สุดท้ายคือการตั้งคำถามต่อไปว่าใครจะได้ประโยชน์จากการทำ UHC เพราะคนเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยเราทำด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย นักวิจัย ภาครัฐ หรือภาคเอกชน ที่สุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และสาธารณประโยชน์
“อยากให้เกิดการทำ UHC ในหลายๆ มหาวิทยาลัย เกิดเป็นภาพจำของความสำเร็จในการรวมตัวของมหาวิทยาลัยที่ทำ UHC และเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศชาติของเรารอดได้ ถ้ามหาวิทยาลัยไหนยังไม่เคยทำต้องลองทำ ปัจจุบันมีคนให้คำปรึกษาได้มากมาย เราจะเดินไปอย่างไม่โดดเดี่ยวแน่นอน” ผศ.ดร.จุมพล กล่าว
สจล. จดทะเบียน UHC ในชื่อ เคเอ็มไอที ลาดกระบัง ซึ่งจุดแข็งของ สจล. คือการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เป้าหมายของ สจล. คือการทำให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินงานในบริษัทที่จะช่วยทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีรายได้ มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
รวมถึงช่วยตอบเป้าหมายหลักและสอดคล้องกับนโยบายของสถาบันในการเป็น World Master of Innovation เป็นสถาบันที่สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ความท้าทายในการจัดตั้ง UHC คือ
1. ด้านนโยบาย สภามหาวิทยาลัยต้องเข้าใจ และให้การสนับสนุนจึงจะทำให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
2. ด้านการดำเนินงาน อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้าไปให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจ
3. ด้านการเงิน การเดินหน้าทำงานได้ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินทุน ที่จะต้องได้รับการสนับสนุน
มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดตั้ง UHC ภายใต้ชื่อ TSU Enterprise ซึ่งแนวคิดหลักของมหาวิทยาลัยจะมองเรื่องนโยบายเชิงพื้นที่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจบีซีจี การผลักดันให้เกิด UHC จึงต้องเชื่อมโยงกับเรื่องเหล่านี้
รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ในปีแรกวางแนวทางการดำเนินงานในด้านการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ผ่านการทำคอร์สอบรมให้อาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมคอร์ส จนได้กลุ่มคนที่สนใจในการดำเนินงานด้านนี้ และเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยร่วมกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างนวัตกรรมสังคม (social innovation) เชิงพื้นที่ และ Grassroots Economy
โดยแบ่งองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่และต่อยอดได้เป็น 4C ได้แก่
1) Craft งานคราฟต์ ที่มีเทคโนโลยีและมีคณะศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนอยู่
2) Cuisine & Cosmetic การยกระดับวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ในธีม local connect
3) Community Tourism ที่จะช่วยยกฐานรากและสร้างรายได้เข้าถึงชุมชนได้ และ
4) Cultural ในแง่ของวัฒนธรรมในพื้นที่หรือซอฟต์พาวเวอร์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มเรื่องการจัดทำ UHC มาตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งจดทะเบียนได้ในปี 2567 ในชื่อ MAGROW Holding ปัจจุบันมีบริษัทลูกภายใต้มหาวิทยาลัย 2 บริษัท
รศ.ดร.ชัยยศ สัมฤทธิ์สกุล รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ความมุ่งหวังของมหาวิทยาลัย คือ
1. เร่งสร้างนวัตกรรม เร่งการใช้และผลิตเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร
2. รวมคนที่มีความฝันแบบเดียวกัน เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน
3. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อยอดไปเป็นธุรกิจ
4. สร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพและ SMEs ที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมาให้ได้
ปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้จัดตั้ง UHC ขึ้นมาได้สำเร็จ คือความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ การมีระเบียบสำนักนายกฯ การมีตัวอย่างจาก UHC อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและแบ่งปันข้อมูล
มีความพร้อมของระบบนิเวศนวัตกรรม มีนักวิจัยกลุ่ม frontier และที่สำคัญคือความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการจัดตั้ง UHC และมองถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก.