ก้าวสู่ปีที่ 10 กยท.โชว์เทคโนโลยีดันไทย ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางครบวงจร
ก้าวสู่ปีที่ 10 กยท.โชว์เทคโนโลยี นวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The Next Chapter” เดินหน้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางครบวงจร ขณะที่ในประเทศ ส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ พัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์
ครบรอบ 9 ปี ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โชว์เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The Next Chapter” โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อม Kick off รถ Mobile Unit จัดเก็บ CESS และเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง Greenergy Shop by RAOT ณ สำนักงานใหญ่ กยท. บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ วันนี้ (26ก.ค.2567)
กยท. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยเกิดจากการควบรวม 3 หน่วยงานด้านยางพารา คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร
ในการจัดกิจกรรมครบรอบ 9 ปี กยท.ได้มีผลงานหลายด้าน โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. ระบุว่า ในช่วง 4 ปี ที่เผชิญวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด -19 และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
กยท.ได้ผลักดันให้ไทยก้าวสู่ประเทศศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางครบวงจรได้ เพราะโลกเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขอนามัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีที่สุด
ในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสม มีการจัดตั้งเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor of Rubber Innovation: SECri) ที่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร
เพราะมีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ยืนยันแล้วว่าจะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ SECri มีทั้งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปยางคอมปาวด์ ยางผสม น้ำยางข้น บริษัทผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทพื้นรองเท้า บริษัทผลิตที่นอนและหมอนยางพารา บริษัทผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา
หากโครงการสำเร็จจะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมยางครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 990,000 ล้านบาท
เพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศจากร้อยละ 17 ไปสู่ร้อยละ 23 หรือปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 1.09 ล้านตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 110,000 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็น 450,000 ล้านบาท ภายในปี 2570
ที่สำคัญจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 45,000 คน กระจายรายได้สู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ประมาณ 56.18% ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง สามารถช่วยยกระดับรายได้ให้ชาวสวนยางประมาณ 15,675 บาทต่อไร่
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการลงนาม MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในการพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยลงนามกับ MOU บริษัท Nomura Jimusho, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผลิตภัณฑ์ด้านชีวมวลในระดับโลก ศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกเหนือจากการขายน้ำยางอีกด้วย
ล่าสุดได้ลงนาม MOU กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาการคำนวณราคายางเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศที่มีมาตรฐานโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ กยท.ยังวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR (EU Deforestation-free Products Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท (รวมถึงยางพารา) ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
1.ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า โดยสินค้าต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
2.กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี
3.ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า อาทิ การเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ วันที่และระยะเวลาการผลิต หลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า
ขณะเดียวกันยังเตรียมวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้บังคับในตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 นี้เป็นต้นไป โดยใช้กลยุทธ์ "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" ผลลัพท์ที่ออกมา EUDR จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำยางพาราโลกอย่างแท้จริง
เพราะกยท.ได้โดยดำเนินโครงการต่างๆ ที่สอดรับกับกฎ EUDR ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี
ตั้งเป้าให้สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ จะต้องเป็นสวนยางพาราที่ได้มาตรฐาน 14061 ทั้งหมด
เพื่อรองรับตลาดยางพาราโลก ที่ได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา โดยจะมีตรวจสอบแหล่งที่มาแบบย้อนกลับ
มอก.14061 เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนยางพาราในระยะยาว รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่
นอกจากนี้ กยท.ยังได้นำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform Thai Rubber Trade (TRT) มาใช้ในการประมูลซื้อขาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ
พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain เข้ามาใช้รองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา จึงสามารถเช็คได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินหรือไม่
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวอีกว่า อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบใช้งานผ่าน Mobile Platform และ Web Application ช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยางทั้งหมดแบบ Real Time ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการได้จากทุกตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่ายทั่วประเทศ
พร้อมทั้งยังนำระบบรับชำระค่าธรรมเนียมส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ Single Form และระบบรับคำขอใบรับรองคุณภาพยางทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW มาใช้ เพื่อลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย
ทั้งนี้ในห้วง 4 ปี นายณกรณ์ ย้ำว่า กยท.ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ พัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ขยายผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐให้มีขอบเขตการดำเนินโครงการที่กว้างขึ้น ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้าน ภายใต้แนวคิด "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. จึงต้องสรรหาผู้ว่าการฯ คนใหม่ โดยนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ.