กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’ อว.-วช. จัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024

ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด "สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างยั่งยืน”

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย"  และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 

และเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจากนักวิจัยไทย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านงานวิจัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรม  ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567

 ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า “การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนางานวิจัยในประเทศให้เข้มแข็งเป็นระบบ มีคุณภาพ

เพื่อส่งต่องานวิจัยเพื่อขยายผลต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในสังคม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ จะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก

และพิสูจน์แล้วว่าทำได้และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพและพัฒนางานวิจัยของไทยให้ดีขึ้นตามลำดับ และเป็นที่ประจักษ์ว่าผลงานที่ได้จากงานวิจัยนั้นใช้ประโยชน์ได้จริง

เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือของประชาชนในการสนับสนุนงานวิจัย ความตื่นตัวที่จะพัฒนางานวิจัยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคมส่วนร่วม”

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

 

นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งนี้ อว.โดย วช.

มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยง และสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม

สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ เอสเอ็มอี

ปีนี้มีงานวิจัยกว่า 900 ผลงาน เข้าร่วมจัดแสดงนอกจากนี้ยังจัดให้มี Research  Festival ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเหล่านักวิจัยอย่างมากมาย อาทิ Research Lab -ห้องเรียนรู้การวิจัย  เป็นต้น

อว.โดย วช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยไทยให้ศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ อันจะช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนต่อไป”

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์กรมหาชน) เจ้าของผลงานวิจัย “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก” กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะช่วยให้การส่งออกทุเรียนแกะเนื้อของประเทศมีคุณภาพ สามารถเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งได้นานถึง 6 เดือน

เมื่อนำออกมาให้คลายเย็นก็จะได้เนื้อทุเรียนที่มีเนื้อสัมและรสสัมผัสเหมือนทุเรียนสด และยังคงโภชนาการได้อย่างครบถ้วน

โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ มีรับสั่งชื่นชม รับสั่งว่าทรงโปรดทุเรียนแต่ยังติดเรื่องกลิ่นไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เวลามีใครให้มาเลยไม่ค่อยได้กิน อยากจะเอาทุเรียนไทยไปฝากรัฐมนตรีที่จีน แต่ก็เอาไปไม่ได้ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นทุเรียนให้นำขึ้นเครื่องบินได้ก็จะดี ซึ่งรับสั่งนี้นับเป็นกำลังใจให้นักวิจัยในการที่จะสนองพระราชดำริต่อไป” 

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

รศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ วช.

ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำมาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยเครื่องจักรและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ พัฒนาเมล็ดพันธุ์เข้มแข็ง ข้าวเปลือกปลอดมอด ข้าวฮางพรีเมียม ข้าวกาบาอาร์เอส แป้งข้าวทนย่อย ข้าวไก่ชน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พระองค์ท่านมีรับสั่งชื่นชม และรับสั่งว่า ‘อยากทำปริญญาเรื่องข้าว แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่ได้ ถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาเรื่องข้าวให้ลึกซึ้งมากกว่านี้’

ในฐานะนักวิจัยเรื่องข้าวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจให้เราที่จะทำงานนี้ต่ออย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวและงานวิจัย”

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

ดร.สมปราชญ์ วุฒิวัฒน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงาน ถังอ้วนอุ่น โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องขยะภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

ถังอ้วนอุ่น เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษขยะอินทรีย์ในครัวเรือน สามารถนำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม สามารถลดขยะครัวเรือนได้ร้อยละร้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และของเหลือจากการผลิตก๊าชชีวภาพก็สามารนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินและต้นไม้ได้อีกด้วย

โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรมีรับสั่งแนะนำว่า ถ้าสามารถพัฒนาก๊าซชีวภาพไปประยุกต์ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ด้วยจะดี และมีรับสั่งชื่นชมว่าทำได้ดี เป็นงานที่ช่วยชาวบ้านได้”

สุรีรัตน์ ณ วิเชียร สถาบันบรมราชชนก หนึ่งในนักวิจัยเรื่อง ผลของชุดเพลงผสมคลื่น Binaural และ Superimposed beats ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ : การศึกษาแบบกึ่งทดลอง กล่าวว่า

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

ชุดเพลงนี้จะประกอบด้วยเสียงดนตรียาวต่อเนื่อง 30 นาที ทำนองเพลงช้า ระดับเสียงสูงปานกลางถึงต่ำ เสียงเบา โดยใช้ความถี่บีตส์ 2 ชนิด คือ Binaural และ Superimposed beats

เมื่อได้ฟังต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เมื่อได้ฟังเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งว่า

คนเป็นความดันโลหิตสูงเยอะ แต่เราเป็นความดันต่ำ จะใช้คลื่นนี้ได้ไหม จะต้องพัฒนาคลื่นเสียงให้เร้าใจขึ้นหรือไม่เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต จึงได้กราบทูลว่า มีทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอีกชุดหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องคลื่นเสียงที่จะช่วยความดันโลหิตต่ำ”

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายในงาน ประกอบด้วย ภาคการประชุมและสัมมนาหลากหลายประเด็นกว่า 150 เรื่อง ภาคนิทรรศการประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

อาทิ นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค นิทรรศการ Research Festival งานวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย นักวิจัยศักยภาพสูง  ศาตราจารย์วิจัยดีเด่น และ เมธีวิจัยอาวุโส วช.เป็นต้น 

กรมวิทย์ฯบริการ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและถวาย The Crafter’s pen

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมถวาย “The Crafter’s pen” นวัตกรรมปากกาจันติ้งไฟฟ้าแบบพกพาสำหรับงานเขียนผ้าบาติก ซึ่งเป็นผลงานของ กรมวิทย์ฯ บริการ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดนวัตกรรม ‘DSS Innovators Award’ ของ วศ. ประจำปี 2567  

นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดต้นทุนและข้อจำกัดในการผลิตผ้าบาติก จากวิธีดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้ แต่มีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากควันจากการทำงาน ซึ่งเสียงเป็นทั้งโรคมะเร็ง หลอดลมอุดตัน ถุงลมโป่งพอง แต่นวัตกรรมดังกล่าว ไม่เกิดมลพิษและความเสี่ยงต่อสุขภาพ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567’

ทั้งยังเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ และอุตสาหกรรมจากปาล์ม ด้วยการพัฒนาวัสดุ Eco-Friendly จากเทียนปาล์มธรรมชาติ ที่ช่วยลดการพึ่งพาวัสดุสังเคราะห์  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้งาน ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว BCG

เมื่อนำไปใช้จริง สามารถเพิ่มรายได้จากเดิมได้อีกหนึ่งเท่า และลดเวลาการทำงานลงครึ่งหนึ่ง ช่วยพี่น้องประชาชน 1000 ชุมชน มีรายได้เดือนละ 40,000 บาท เป็นรายได้รวมของประเทศปีละกว่า 500 ล้านบาท 

ภายในงานฯ ครั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ ได้นำผลงานวิจัยจัดแสดงนิทรรศการในโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ “มอร์ตาร์สำหรับก่อสำเร็จรูปโดยใช้มวลรวมผสมจากเศษคอนกรีตและมอร์ตาร์ที่ใช้แล้ว” และ “การศึกษาแนวทางการเพิ่มความเสถียรของตัวอย่างน้ำที่เจือปนปรอท เพื่อใช้เป็นตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ”

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถค้นหาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518