1X เปิดตัว Neo Beta หุ่นยนต์แม่บ้าน ‘เข้าใจคำสั่งซับซ้อน - ทำงานเหมือนมนุษย์’

1X เปิดตัว Neo Beta หุ่นยนต์แม่บ้าน ‘เข้าใจคำสั่งซับซ้อน - ทำงานเหมือนมนุษย์’

วันเอ็กซ์ (1X) เผยโฉม ‘Neo Beta’ หุ่นยนต์ช่วยงานบ้านแห่งอนาคต ชูจุดเด่น ‘เข้าใจคำสั่งซับซ้อน - ทำงานเหมือนมนุษย์’ ต่อยอดจาก ‘Eve’ หุ่นยนต์ต้นแบบที่ได้รับการระดมทุนจาก OpenAI ตั้งเป้าผลิตหลายพันตัวในปี 2025

วันเอ็กซ์ (1X) บริษัทวิศวกรรมด้านวิทยาการหุ่นยนต์จากนอร์เวย์ ได้เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดในการพัฒนาหุ่นยนต์มนุษย์ (humanoid) รุ่นใหม่ชื่อ “Neo Beta” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นผู้ช่วยงานบ้านแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด “หุ่นยนต์ที่มีการเคลื่อนไหว และพฤติกรรมใกล้เคียงมนุษย์

1X เปิดตัว Neo Beta หุ่นยนต์แม่บ้าน ‘เข้าใจคำสั่งซับซ้อน - ทำงานเหมือนมนุษย์’

(Eve และ Bernt Bornich ซีอีโอ 1X )

จาก Eve สู่ Neo Beta

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.พ.2024 ที่ผ่านมา 1X ได้สร้างความฮือฮาแก่วงการเทคโนโลยีด้วยการเปิดตัว “อีฟ (Eve)” ต้นแบบผู้ช่วยในบ้านที่เป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานพื้นฐานในบ้านได้ เช่น การหยิบจับสิ่งของ และการทำตามคำสั่งที่ไม่ซับซ้อนมากนัก

Eve ถูกออกแบบมาด้วยความคิดที่ว่า “ทำไมเราต้องปรับบ้านให้เข้ากับหุ่นยนต์ ในเมื่อเราสามารถสร้างหุ่นยนต์ให้เข้ากับบ้านของเราได้” ด้วยเหตุนี้ Eve จึงมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่ยังคงมีข้อจำกัดบางประการ เช่น การใช้ล้อในการเคลื่อนที่แทนขา และมีมือแบบคีบแทนนิ้วมือ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำงานในโรงงานหรือคลังสินค้ามากกว่าในบ้าน

อย่างไรก็ดี Eve ได้รับการสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์จาก OpenAI บริษัทด้านเอไอชั้นนำ โดย OpenAI ยังได้ลงทุนในบริษัท 1X ถึง 23.5 ล้านดอลลาร์ในรอบ Series A และต่อมาอีก 100 ล้านดอลลาร์ในรอบ Series B

การร่วมมือครั้งนี้ทำให้ Eve มีความสามารถในการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพราะใช้โมเดล GPT-4 เหมือนกับ ChatGPT ทำให้สามารถเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น

ฮาร์ดแวร์ของ Eve ใช้แนวคิด “การออกแบบที่เน้นการใช้งาน (function-oriented design)” Eve จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไป โดยมีโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อสอนพฤติกรรม วิธีนี้ทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตำแหน่งของสิ่งของในบ้าน หรือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ

แม้ว่า Eve จะมีความสามารถที่น่าประทับใจ แต่การออกแบบของ Eve ยังคงมุ่งเน้นไปที่การใช้งานในพื้นที่ ที่มีโครงสร้างชัดเจน เช่น โรงงานหรือคลังสินค้า มากกว่าการใช้งานในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และไม่แน่นอน ดังนั้น นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้ “นีโอ เบต้า (Neo Beta)” เข้ามาเติมเต็ม

1X เปิดตัว Neo Beta หุ่นยนต์แม่บ้าน ‘เข้าใจคำสั่งซับซ้อน - ทำงานเหมือนมนุษย์’

(Neo Beta)

ความสามารถของ Neo Beta

Neo Beta ได้รับการพัฒนาต่อยอดจาก Eve โดยมุ่งเน้นให้มีความสมจริง และใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือ การออกแบบให้ Neo Beta มีขาแทนล้อ ทำให้สามารถเดิน และเคลื่อนที่ได้เหมือนมนุษย์ ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานในบ้านที่มีพื้นผิวหลากหลาย เช่น พื้นไม้ พรม หรือแม้แต่การขึ้นลงบันได

นอกจากนี้ Neo Beta ยังได้รับการปรับปรุงในส่วนของมือ จากเดิมที่เป็นแบบคีบ มาเป็นมือที่มีนิ้ว 5 นิ้วเหมือนมนุษย์ ทำให้สามารถจับสิ่งของที่มีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหยิบแก้วน้ำ การเปิดประตู หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในบ้าน

การออกแบบภายนอกของ Neo Beta จะสวมใส่ชุดจั๊มสูทผ้าสปอร์ตเพื่อปกปิดโครงสร้างภายใน ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ และไม่น่ากลัวเมื่ออยู่ในบ้าน

ท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาจาก Eve สู่ Neo Beta ไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงด้านกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ Neo Beta มีความสามารถในการเรียนรู้ และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในบ้านได้ดียิ่งขึ้น สามารถทำความเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และยังสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ เสมือนกำลังคุยกับผู้ช่วยในบ้านจริงๆ

ลุยตลาดหุ่นยนต์

1X วางแผนที่จะผลิต Neo Beta ในโรงงานของบริษัทที่เมือง Moss ประเทศนอร์เวย์ โดยตั้งเป้าที่จะผลิตหุ่นยนต์จำนวนหลายพันตัวในปี 2025 และเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านตัวภายในปี 2028

Bernt Bornich ซีอีโอของ 1X กล่าวว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนา โดยในปีนี้ บริษัทจะทดลองนำ Neo Beta ไปใช้งานจริงในบ้านจำนวนจำกัด เพื่อเก็บข้อมูล และพัฒนาประสิทธิภาพต่อไป

“แผนของเราคือ ผลิตหุ่นยนต์เป็นพันตัวในปี 2025 หมื่นตัวในปี 2026 แสนตัวในปี 2027 และล้านตัวในปี 2028” ซีอีโอของ 1X กล่าวสรุป ทั้งนี้ เขายังเชื่อว่าสามารถผลิตหุ่นยนต์ในราคาที่เทียบเท่ากับรถยนต์ราคาไม่แพงมาก ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

อ้างอิง: newsweek , 1X และ ictmirror

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์