Green Buildings ทางรอดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Green Buildings ทางรอดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ นอกจากผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ยังมีแรงกดดันจากนโยบายและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ภาคอสังหาริมทรัพย์มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 40% ของทั้งหมดทั่วโลก บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถปรับตัวให้เร็วพอ จะต้องเจอกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การเผชิญกับกฎเกณฑ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และการสูญเสียความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน  

แม้ว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังคงติดข้อจำกัดด้านการลงทุน เพราะการสร้างอาคารที่มีประสิทธิภาพทางพลังงานมากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะมีประโยชน์ในระยะยาว แต่โอกาสในการสร้างรายได้ในระยะสั้นยังถูกมองว่ายังไม่คุ้มค่าในสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หลายบริษัทได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น Skanska ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก ได้นำแนวคิด "Deep Green" มาปรับใช้ในทุกโครงการ

ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการสร้างอาคารที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ แต่ยังใช้ BIM 360 และ Forge เพื่อดิจิทัลทรานส์ฟอร์มกระบวนการทั้งหมดของบริษัท ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการและลดของเสียในขั้นตอนการก่อสร้าง 

ในเอเชีย City Developments Limited (CDL) จากสิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สีเขียว โดยบริษัทมีเป้าหมายในการบรรลุ Net-Zero Carbon ภายในปี 2030 นอกจากนี้ Megaworld ในฟิลิปปินส์ยังได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนสำหรับการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนและการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์กำลังนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในอาคารเขียวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานและการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น ระบบ AI-powered smart building ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง และการระบายอากาศได้แบบเรียลไทม์ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้เหมาะสม ช่วยลดการใช้ทรัพยากร 

นอกจากนี้ AI ยังถูกนำมาใช้ในการคาดการณ์การบำรุงรักษา และวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อออกแบบอาคารที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต ทางเลือกการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เหล็กรีไซเคิล และวัสดุคาร์บอนต่ำ ก็ยังสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

การปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่อาคารเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในอนาคต

ด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอาเซียน โดยเฉพาะในด้านพลังงานหมุนเวียนและอาคารเขียว เวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ ด้วยการลงทุนในโครงการสีเขียวที่มีมูลค่าสูงถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 และคาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 

การเติบโตของการลงทุนในอาเซียนแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันมหาศาลสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มองเห็นคุณค่าในความยั่งยืน การลงทุนในอาคารเขียวไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นอนาคตที่ยั่งยืนและเติบโตได้ในระยะยาว

นักลงทุนที่เห็นคุณค่าและเริ่มต้นลงมือในตอนนี้ จะกลายเป็นผู้นำในยุคของการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน