ส่องดีไซน์ ‘Haven-1’ โรงแรมหรูในอวกาศ เตรียมเปิดให้บริการปี 2026
เฮเวิน-1 (Haven-1) สถานีอวกาศเอกชนเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ออกแบบโดยบริษัท แวสต์ (Vast) ที่ไม่ได้ใช้เป็นเพียงสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นเสมือนโรงแรมหรูบนอวกาศ ที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของนักบินอวกาศเป็นหลัก
โลกกำลังจะก้าวสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ บริษัทแวสต์ (Vast) เปิดตัว เฮเวิน-1 (Haven-1) สถานีอวกาศเอกชนแห่งแรก ที่ไม่ได้เป็นเพียงสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาให้เป็นโรงแรมหรูบนอวกาศ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพักผ่อนและการสำรวจแบบยั่งยืน
ภายในเฮเวิน-1 แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างลงตัว ทั้งห้องพักส่วนตัว พื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน และห้องปฏิบัติการวิจัย ห้องพักส่วนตัวของนักบินอวกาศบนเฮเวิน-1 มีขนาดใหญ่กว่าบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เล็กน้อย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น พื้นที่สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า อุปกรณ์บันเทิง และระบบสื่อสารออนไลน์เพื่อติดต่อกับครอบครัวบนโลก
นอกจากนี้ ยังมีระบบการนอนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาการนอนในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับนักบินอวกาศมาโดยตลอด
พื้นที่ส่วนกลางของสถานีถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยมีพื้นที่กว้างขวางถึง 24 ลูกบาศก์เมตร พร้อมหน้าต่างโดมขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.1 เมตร ให้นักบินอวกาศได้ชมวิวของโลกอย่างเต็มตา และยังมีโต๊ะอเนกประสงค์ที่สามารถพับเก็บได้ และระบบออกกำลังกายที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อรักษาสุขภาพของนักบินอวกาศในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง
หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจของเฮเวิน-1 คือ การนำ “ไม้เมเปิ้ลจริง” มาใช้ในการตกแต่งภายใน ซึ่งผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยและทนไฟ เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลาย แตกต่างจากสถานีอวกาศทั่วไปที่มักจะดูเย็นชาและไร้ชีวิตชีวา
ส่วนห้องปฏิบัติการของเฮเวิน-1 ถือเป็นแพลตฟอร์มวิจัย พัฒนา และผลิตในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงแห่งแรกบนสถานีอวกาศเอกชน มีพื้นที่สำหรับอุปกรณ์วิจัยถึง 10 ช่อง ซึ่งสามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ Starlink
อย่างไรก็ดี การออกแบบเฮเวิน-1 ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รวมถึงแอนดรูว์ ฟิวสเทล อดีตนักบินอวกาศของนาซาที่มีประสบการณ์มากกว่า 23 ปี และปีเตอร์ รัสเซลล์-คลาร์ก นักออกแบบชื่อดังที่เคยร่วมงานกับ Apple มาก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกรายละเอียดของสถานีได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง
การแข่งขันของอุตสาหกรรมอวกาศ
แม้ว่าเฮเวิน-1 จะเป็นโครงการที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเดียวที่มีแผนในการสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ บริษัทอื่นๆ ก็มีโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น
1) Axiom Space กำลังพัฒนาโมดูลที่จะเชื่อมต่อกับ ISS ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์เอกชนในอนาคต
2) Blue Origin บริษัทของเจฟฟ์ เบซอสมีแผนสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ชื่อ “Orbital Reef” ซึ่งมีเป้าหมายคล้ายกับเฮเวิน-1 ในการสร้างพื้นที่สำหรับการวิจัยและการท่องเที่ยวอวกาศ
3) Nanoracks บริษัทนี้ร่วมมือกับ Voyager Space และ Lockheed Martin ในการพัฒนาสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ชื่อ สตาร์แล็ป (Starlab)
ในขณะที่ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ทีมีซีอีโอเป็นอีลอน มัสก์ ไม่ได้มีโครงการสถานีอวกาศเอกชนโดยตรง แต่บริษัทมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในด้านการขนส่งนักบินอวกาศและสัมภาระด้วยยานอวกาศ Crew Dragon และจรวด Falcon 9 ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกใช้ในการส่งเฮเวิน-1 และลูกเรือขึ้นสู่อวกาศด้วย
อนาคตของการท่องเที่ยวอวกาศ
เฮเวิน-1 มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2025 และคาดว่าจะพร้อมต้อนรับนักบินอวกาศกลุ่มแรกในปี 2026 นับเป็นก้าวสำคัญของการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ และการขยายขอบเขตการใช้ชีวิตของมนุษย์ออกไปนอกโลก
บริษัท แวสต์ ยังมีแผนพัฒนาสถานีอวกาศรุ่นต่อไปที่มีระบบแรงโน้มถ่วงเทียม ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานในทศวรรษ 2030 เพื่อรองรับการอยู่อาศัยในอวกาศระยะยาวของมนุษย์ในอนาคต
อ้างอิง: vastspace